"เกษตรกร"เฮครม.ไฟเขียวปรับเกณฑ์แก้หนี้ชัดเจน

"เกษตรกร"หนี้สินกฟก.3.6 แสนราย เฮ"กฤษฏา"ชงครม.ไฟเขียว ปรับเกณฑ์แก้หนี้ชัดเจน เปิดช่องกองทุนฟื้นฟูฯเข้าซื้อหนี้-ชำระหนี้แทนเกษตรกร ต่อลมหายใจรอดพ้นโดนยึดที่ดินทำกิน

นายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังประชุมครม.ว่าครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอแก้ไขพ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร(กฟก.) ใน 3ประเด็นโดยให้คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯที่มีตัวแทนเกษตรกร และกรรมการผู้ทรงวุฒิ มีวาระคราวละ 2 ปี ขยายวาระเป็น 4 ปี ซี่งประหยัดงบประมาณในการเลือกตั้งได้ 89 ล้านบาท และในระหว่างเลือกตั้ง หรือกำลังสรรหาใหม่ ให้คณะกรรมการชุดเก่า ทำงานในตำแหน่ง ต่อไปได้ไม่ให้ขาดตอน และกำหนดระยะเวลา 120 วัน ดำเนินการเพื่อให้ได้กรรมการชุดใหม่


นอกจากนี้ให้คณะกรรมการกองทุนฯมีอนุมัติ ตั้งสำนักงานใหญ่ของกองทุน สามารถไปตั้งในต่างจังหวัดได้ เนื่องจากสำนักงานใหญ่ ที่ตั้งในพื้นที่องค์การตลาดเพื่อการเกษตร(อตก. )หมดสัญญาเช่า และราคาเช่าแพงมาก ไม่สามารถหาที่ในกรุงเทพฯได้ จึงจะไปหาที่ตั้งในต่างจังหวัด เพื่อจะทำงานใกล้ชิดเกษตรกร มากขึ้นด้วย
ทั้งนี้ให้แก้ไขอำนาจหน้าที่กองทุนให้สามารถเข้าไปซื้อหนี้หรือชำระแทนเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟู ซึ่งเป็นหนี้ ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และหนี้ที่มีบุคคลค้ำประกัน โดยจะต้องกำหนดในรายละเอียดอีกครั้ง ซึ่งการพิจารณาคุณสมบัติเกษตรกรเป็นไปตามระเบียบ จะมีผลบังคับใช้หลังจากกฏหมายนี้ผ่านสภาสมัยหน้า
“เกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯทั้งหมดกว่า3.6 แสนราย มูลค่าหนี้ 5.6 หมื่นล้านบาท ได้รับอนิสงค์ ครม.เห็นชอบปรับหลักเกณฑ์ให้กองทุนฟื้นฟูฯเข้าซื้อหนี้จากธนาคารเจ้าหนี้ และชำระหนี้แทนเกษตรกร ทั้งหนี้หลักทรัพย์ค้ำประกันและหนี้บุคคลค้ำ ประมาณ 2.4 แสนราย มูลค่าหนี้ 2.4 หมื่นล้านบาทโดยกลุ่มแรกที่กองทุนฯเข้าซื้อหนี้ 8 หมื่นราย มูลค่าหนี้ 6 พันกว่าล้านบาท เป็นลูกหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธกส.)และสหกรณ์การเกษตร ที่เกษตรกรยื่นผ่านกองทุนฯเข้าสู่การปรับโครงการสร้างหนี้ไว้แล้ว รัฐบาลนี้ช่วยต่อลมหายใจเกษตรกรไม่ให้ที่ดินทำกินหลุดมือพร้อมมีโครงการช่วยเหลือฟื้นฟูอาชีพอย่างเข้มแข็งยั่งยืนด้วย “นายกฤษฏา กล่าว
กระทรวงเกษตรฯได้เสนอร่างกฏหมายปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์ การชำระหนี้แทนเกษตรกรทั้งทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันและบุคคลค้ำประกัน ได้กำหนดวิธีการในการชำระหนี้แทนเกษตรกรให้ชัดเจน โดยให้กองทุนฯชำระหนี้แทนได้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด เพื่อให้สามารถขยายขอบเขตการชำระหนี้ให้ครอบคลุมเกษตรกรเดือดร้อนจากหนี้สินที่มีปัญหามากยิ่งขึ้น




ความคิดเห็น