"ไทย-ลาว"ร่วมบริหารน้ำโขงช่วยผลกระทบอีสาน


"ไทย-ลาว"ร่วมบริหารน้ำโขง หลังสปป.ลาว สร้างเขื่อนไซยะบุรี กั้นแม่โขง รับปริมาณน้ำหลากที่ใช้ออกแบบ 47,500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ หวังป้องกันน้ำท่วมริมฝั่งไทย เกิดทุกปีช่วง1ก.ค.-31ต.ค.ลดผลกระทบ 8จว.ภาคอีสาน

นายสมเกียรติ  ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังเดินทางดูงานโครงการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี และหารือกับท่านแก้วมณี หลวงฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองบริหารองค์กรและความร่วมมือ และคณะฯของสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติลาว ซี่งจะทำให้การบริหารจัดการและการใช้น้ำจากแม่น้ำระหว่างประเทศในแม่น้ำโขงล่างตอนบนเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น


โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สทนช.ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลอุทกวิทยากรณีฤดูน้ำหลากสำหรับแม่น้ำโขง – ล้านช้าง กับฝ่ายจีนจะให้ข้อมูลระดับน้ำและปริมาณฝนในช่วงฤดูน้ำหลาก ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. – 31 ตุลาคมของทุกปี จากสถานีอุทกวิทยา 2 แห่ง คือ สถานีจิ่งหง ซึ่งเป็นสถานีวัดปริมาณน้ำที่ระบายจากเขื่อนตัวที่ 6 ที่จีนสร้างในลำน้ำโขง และสถานีหม่านอัน ซึ่งเป็นสถานีวัดน้ำในลำน้ำสาขาของจีน และในเร็วๆ นี้ สปป.ลาวจะมีการติดตั้งสถานีวัดน้ำสถานีเชียงกกซึ่งอยู่ในแม่น้ำโขงระหว่างพม่าและลาว บริเวณเหนือ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ประมาณ 200 กม.


จะทำให้เกิดความเชื่อมโยงในการบริหารจัดการแม่น้ำโขงตลอดสายในฤดูฝนนี้ ทั้งข้อมูลปริมาณน้ำฝน รวมถึงการระบายน้ำจากเขื่อนไซยะบุรีที่สะท้อนกับสภาพความเป็นจริงได้และเป็นข้อมูลปัจจุบัน (Real Time) ได้มากที่สุด เพื่อการวิเคราะห์ คาดการณ์สถานการณ์น้ำท่าที่จะไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่อาจจะส่งผลกระทบต่อแม่น้ำโขงฝั่งไทยได้

โดยเฉพาะในพื้นที่ 8 จังหวัดเสี่ยงภาคอีสานที่ติดแม่น้ำโขง ที่ในแต่ละปีปริมาณน้ำโขงจะมีปริมาณน้ำสูงใน 2 ช่วง คือ ช่วงเดือนกรกฎาคม และกันยายน หาก สทนช.ได้รับข้อมูลสถานการณ์น้ำใน สปป.ลาว ล่วงหน้าก็สามารถคาดการณ์เพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดจากน้ำล้นตลิ่งกับประชาชนในฝั่งไทยได้”นายสมเกียรติ กล่าว.


สำหรับโครงการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีของ สปป.ลาว ซึ่งเป็นโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ ประเภทเขื่อนทดน้ำเหมือนเขื่อนเจ้าพระยา มีพื้นที่รับน้ำฝน 272,000 ตารางกิโลเมตร ปริมาณ/อัตราการไหลน้ำท่าเฉลี่ย 3,971 ลูกบาศก์เมตร/วินาที

ความยาวอาคารตั้งแต่ช่องทางการเดินเรือ อาคารระบายน้ำ ช่องระบายตะกอน โรงไฟฟ้าและอาคารประกอบ ยาวรวม 820 เมตร ปริมาณน้ำหลากที่ใช้ออกแบบ 47,500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ปริมาณน้ำออกแบบเพื่อผลิตไฟฟ้าส่งออกขาย 4,900 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ตั้งอยู่บนลำน้ำโขงสายหลัก 
   

ซึ่งขณะนี้การก่อสร้างดำเนินการใกล้แล้วเสร็จ และอยู่ในช่วงระหว่างเริ่มทดสอบระบบผลิตกระแสไฟฟ้า รวมทั้งมีการดำเนินงานเกี่ยวกับระบบติดตาม และคาดการณ์ปริมาณน้ำทั้งด้านเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อนเสร็จเรียบร้อยแล้ว

ซึ่งไทยและ สปป.ลาว ได้กำหนดกรอบแนวทางความร่วมมือร่วมกันใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) การบริหารจัดการน้ำและการใช้น้ำของเขื่อนไซยะบุรี 2) แนวทางการประสานงานและการทำงานร่วมกันเพื่อรองรับการดำเนินงานในช่วงฤดูฝน 3) แนวทางการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านอุทกวิทยา ระบบการพยากรณ์น้ำท่วมและการบริหารจัดการเขื่อน และ 4) แผนเตรียมการรับมือภาวะฉุกเฉินและความปลอดภัยเขื่อน




ความคิดเห็น