เปิดใจคนเกษตร"วิถีอินทรีย์"วิถีชุมชนนิคมสหกรณ์พร้าว

การลงพื้นที้นิคมสหกรณ์อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ของนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ รองอธิบดีกรมส่งเสริสหกรณ์ และคณะ เพื่อมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน (กสน.3 และ กสน.5)ในเขตนิคมสหกรณ์พร้าวให้แก่เกษตรกรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์นิคมพร้าว จำกัด จำนวน 88 ราย


นอกเหนือจากการมอบหนังสือกสน.3และกสน.5 แล้ว ยังได้มีโอกาสเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรอินทรีย์จากโครงการส่งเสริมอาชีพปลูกผักอินทรีย์และเกษตรปลอดภัยของเกษตรกรในพื้นที่นิคมสหกรณ์พร้าว ที่ได้คัดสรรผลผลิตเกษตรอินทรีย์นำมาโชว์ในงานตามบูธต่าง ๆ ที่ได้จัดเตรียมไว้ภายในงานนี้ด้วย

หนึ่งในนั้นเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรอินทรีย์ของนายณรงค์ชัย ปาระโกน เกษตรกรผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ และประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติดอกคำ ต.น้ำแพร่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นดอกผลจากโครงการส่งเสริมอาชีพปลูกผักอินทรีย์และเกษตรปลอดภัยของนิคมสหกรณ์พร้าว ที่ได้เข้าไปแนะนำส่งเสริมและประสานหน่วยงานต่าง ๆ


เข้ามาอบรมถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรที่สนใจจะปรับเปลี่ยนการทำเกษตรมาเป็นวิถีแบบอินทรีย์ ซึ่งณรงค์ชัย เป็นหนึ่งในเกษตรกรที่มุ่งมั่นตั้งใจทำเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง และนำผลผลิตที่ได้มาจัดแสดงโชว์ไว้อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะพืชตระกูลผัก ไม่ว่าจะเป็นผักสลัด ผักบุ้งจีน ผักกวางตุ้ง ตลอดจนปุ๋ยอินทรีย์น้ำชีวภาพ  ที่ผลิตจากมูลไส้เดือนและมูลสัตว์ต่าง ๆ

"ณรงค์ชัย"เริ่มหันสนใจทำเกษตรอินทรีย์มาตั้งแต่ปี 2538 และเป็นตัวจักรสำคัญในการริเริ่มก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติดอกคำ เน้นปลูกพืชผักปลอดสารพิษ ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวนทั้งสิ้น 47 ครัวเรือน 


“รูปแบบที่ทำแบบครบวงจรทั้งผลิตเอง แปรรูปเอง ทำตลาดเอง ซึ่งเรามีตลาดเฉพาะอยู่แล้วที่ตัวเมืองเชียงใหม่ ตรงนี้ก็จะให้คนรุ่นใหม่ คือลูกชายกับลูกสะใภ้เป็นคนดูแลเพื่อขยายตลาดต่อไปให้มากขึ้นจากเดิมที่มีอยู่แล้วคือ ตลาดจริงใจมาร์เก็ตที่จะขายเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์”

ปัจจุบันณรงค์ชัยมีพื้นที่ประมาณ 30 ไร่ในการทำเกษตรอินทรีย์ หากรวมพื้นที่ของสมาชิกทั้งกลุ่มแล้วมีประมาณ 400 กว่าไร่ โดยจะใช้วิธีร่วมกันผลิต ร่วมกันขาย ภายใต้ชื่อกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติดอกคำ  ประกอบด้วยสินค้าที่หลากหลาย ได้แก่ ข้าวหลากหลายสายพันธุ์ เช่นข้าวหอมมะลิ105 ข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวญี่ปุ่น ข้าวเหนียวเขี้ยวงู ข้าวเหนียวำ นอกจากนี้ยังมีปศุสัตว์อินทรีย์ เช่น ไข่ไก่ ไข่เป็ด สุกรและนำมูลสัตว์เหล่านี้มาทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวิภาพใส่ในพืชผักที่ปลูก

นอกจากยังมีการแปรรูปข้าวเป็นข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ  เนื่องจากมีโรงสีของเราเอง  โดยเมื่อปี 2536 กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้สนับสนุนงบประมาณในการจัดซื้อโรงสีข้าวชุมชนเป็นจำนวนเงิน 3 แสน และทางกลุ่มสมทบอีก 2 แสนบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 5 แสนบาท และในส่วนของพืชผักในปี 2563 นี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์สนับสนุนโรงเรือนปลูกผัก    จำนวน  1 โรง มูลค่า 5 หมื่นบาท โดยทางกรมส่งเริมสหกรณ์ออกให้ 3.5 หมื่นบาทและกลุ่มสมทบอีก 1.5 หมื่นบาท


“ถามว่าดีไม๊ บอกเลยว่าดีมาก ๆ เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค เมื่อก่อนเราปลูกในแปลงทั่วไป  แต่ถูกโรคและแมลงรบกวนจนได้รับความเสียหาย เพราะผักเราไม่ใช้สารเคมีเลย แต่พอมีโรงเรือน มีตาข่ายคลุมทำให้ดูแลได้ง่ายขึ้น ป้องกันโรคและแมลงดีขึ้น การแก้ปัญหาที่ผ่านมาใช้น้ำหมักจากขี้เถ้า น้ำหมักจากน้ำส้มควันไม้มาช่วยไล่แมลงศัตรูผักที่ปลูก”

ส่วนเป้าหมายในอนาคตนั้น  ณรงค์ชัยบอกว่าอยากจะถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ ให้กับคนรุ่นใหม่ได้เข้ามาดูแลเข้ามาต่อยอดในเรื่องของกระบวนการผลิตที่ครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะการบริหารจัดการและการตลาดที่ต้องมุ่งเน้นไปที่ช่องทางตลาดการค้าขายแบบออนไลน์มากขึ้น


“ถ้าเป็นเสาร์-อาทิตย์รายได้ไม่ต่ำกว่าหลักหมื่นต่อวัน อย่างวันเสาร์จะส่งให้ร้านโอ๋กะจู๋ ซึ่งเป็นลูกค้าหลักดั้งเดิมตั้งแต่เราเริ่มก่อตั้งกลุ่ม ส่วน  วันอาทิตยจะเป็นลูกค้าทั่วไป  โดยสินค้าที่ทำรายได้มากที่สุดได้แก่ ข้าวอินทรีย์กับไข่อินทรีย์”เกษตรกรคนเดิมเผย

ขณะที่นายธนภัทร  โอโนะหรือแม๊ก ลูกชายและนางสาวณัฏณภัทร  บุญสุข ลูกสะใภ้ ได้ลาออกจากงานประจำ  เพื่อมาสานต่อการทำเกษตรอินทรีย์จากผู้เป็นบิดา โดยธนภัทรถูกมอบหมายให้ดูแลเรื่องกระบวนการผลิต  ส่วนณัฏณภัทรจะดูแลการบริหารจัดการและการตลาด โดยมุ่งเป้าไปที่ตลาดการค้าขายออนไลน์เป็นหลัก 


“เราเป็นคนในเมืองเชียงใหม่ จบมาเป็นล่ามภาษาญี่ปุ่น  เห็นคุณค่าเกษตรอินทรีย์  แฟนชวนให้มาช่วยคุณพ่อช่วยชุมชนทำเกษตรอินทรีย์  ถามว่ายากไม๊เคยอยู่ในห้องแอร์แล้วมาทำงานอยู่กลางแดด กลางฝน บอกเลยว่าไม่ยากเท่าเปิดใจ มันคือความสุขถึงจะเจอแดดร้อน อยู่กับธรรมชาติ เพิ่งมาอยู่ได้ 10 เดือนชอบมาก อยากจะให้กำลังใจคนรุน่ใหม่มาทำเกษตรอินทรีย์บอกได้เลยว่าไม่ยากอย่างที่คิดถ้าเราเปิดใจ”ณัฏฐณภัทร บุญสุข เกษตรกรรุน่ใหม่กล่าว










                                                       

ความคิดเห็น