ของดีมีน้อย ! แนะคนไทยรีบทานผลไม้ใต้

นางสาวเพ็ญระพี ทองอินทร์ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมไม้ผล สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรในฐานะเลขานุการ Fruit board ได้ร่วมกับหน่วยงานหลายภาคส่วนกำกับติดตามสถานการณ์การผลิต การตลาดผลไม้ พร้อมวางแผนรับมือและ จัดการอย่างเป็นระบบ

พบว่าสถานการณ์โดยรวมปีนี้ ผลไม้ภาคใต้ 4 ชนิด ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง ปริมาณลดลงทุกชนิด เนื่องจาก สภาพอากาศเปลี่ยน มีฝนตกช่วงที่ผลไม้ กำลังออกดอก ติดผล ทำให้ผลผลิตลดลง ทุเรียน ปริมาณผลผลิตรวม 522,101 ตัน ผลผลิตทุเรียนในฤดู 489,717 ตัน ผลผลิตเฉลี่ยลดลงจากปีที่ผ่านมา 4.87 % ช่วง Peak ระหว่างวันที่ 21 - 31 กรกฎาคม 2563 ปริมาณ 149,243 ตัน คิดเป็น 28.59 สถานการณ์การเก็บเกี่ยวดำเนินการแล้ว 159,612 ตัน คิดเป็น 32.59 % เป็นเกรด A 60.41 %


มังคุด ปริมาณผลผลิตรวม 125,038 ตัน ผลผลิตมังคุดในฤดู 116,891 ตัน ผลผลิตเฉลี่ยลดลงจากปีที่ผ่านมา 28.02 % ช่วง Peak เดือนสิงหาคม เงาะ ปริมาณผลผลิตรวม 43,374 ตัน ผลผลิตเงาะในฤดู 43,145 ตัน ผลผลิตเฉลี่ยลดลงจากปีที่ผ่านมา 36 % ลองกอง

ปริมาณผลผลิตรวม 37,314 ตัน ผลผลิตลองกองในฤดู 35,555 ตัน ผลผลิตเฉลี่ยลดลงจากปีที่ผ่านมา คิดเป็น 47.05 % ช่วง Peak เดือนกันยายน ปริมาณ 16,617 ตัน โดยในระหว่างวันที่ 11 - 20 กันยายน 2563 จะมีปริมาณถึง 15.25 % สำหรับแผนบริหารจัดการ แบ่งเป็นการจัดการเชิงคุณภาพ และการจัดการเชิงปริมาณ ซึ่งการบริหารจัดการเชิงคุณภาพ 3 ระยะ

ได้แก่ ระยะที่ 1 ก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต รักษาคุณภาพ มาตรฐาน รวมถึงถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการพัฒนาคุณภาพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไม้ผล ผลิตตามระบบมาตรฐาน GAP และ GI ส่งเสริมการทำไม้ผลอัตลักษณ์ รวมถึงการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกร ให้เป็นกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ / สหกรณ์


ระยะที่ 2 เก็บเกี่ยวผลผลิต โดยเฉพาะการการป้องปรามผลผลิตด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด เชื่อมโยงการตลาดและเพิ่มมูลค่าผลิต เช่น การส่งเสริมการบริโภคและประชาสัมพันธ์เก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงเวลาที่เหมาะสม การเชื่อมโยงการผลิต การตลาดและการจัดจำหน่าย ประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการขาย ช่วยเหลือการขนส่ง รวมถึงส่งเสริมการรวมกลุ่มตั้งจุดรวบรวมเพื่อจัดชั้นคุณภาพตรวจสอบย้อนกลับได้

ระยะที่ 3 หลังเก็บเกี่ยวผลผลิต ผลผลิตที่ตกเกรด เน้นการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าแช่แข็ง ทอด กวน รวมถึงให้คำแนะนำจัดการสวนหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อเตรียมความพร้อมในฤดูกาลต่อไป ด้านการบริหารจัดการเชิงปริมาณ แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต ติดตามคาดคะเนสถานการณ์ผลไม้ และจัดทำข้อมูลประมาณการผลผลิต และแผนบริหารจัดการผลผลิต ระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต กระจายผลผลิตออกสู่ตลาด

โดยบริหารจัดการผลผลิตในฤดูกาลเป็นสำคัญ เน้นการป้องปรามผลไม้ไม่มีคุณภาพ ขอเชิญชวนคนไทยซื้อผลไม้ไทย ในแคมเปญ “ซื้อสินค้าเกษตรไทย เกษตรกรอยู่ได้ ประเทศไทยอยู่รอด” หรือ สามารถเลือกซื้อสินค้าคุณภาพผ่านเกษตรกรที่จำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ สอบถามพูดคุยกับเกษตรกรได้โดยตรง ผ่าน เว็บไซต์ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com


นอกจากนี้ ช่วงฤดูกาลผลไม้ภาคใต้ ขอชวนคนไทย เที่ยวสวนผลไม้ไทย เช่น สวนสละลุงถัน จ.พัทลุง, สวนทวีทรัพย์ จ.ชุมพร, บ้านในวงโฮมสเตย์ จ. ระนอง, ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร กิจกรรมการพัฒนาคุณภาพผลผลิตมังคุด จ.นครศรีธรรมราช, วิสาหกิจชุมชนคลองแดนพัฒนา จ. สงขลา, วิสาหกิจชุมชนผลิตและแปรรูปสละอาทิตย์ จ.สุราษฎร์ธานี หรือ ดาวน์โหลด แอพพลิเคชั่น “ท่องเที่ยวเชิงเกษตร” ฟรี

ผู้ใช้สามารถเข้าไปหาข้อมูลของแต่ละภาคว่ามีสถานที่ท่องเทียวเชิงเกษตรที่ใดบ้าง เมื่อเลือกสถานที่ท่องเที่ยวที่ถูกใจได้แล้ว ก็สามารถกดเข้าไปดูรายละเอียด โดยจะมีข้อมูลสถานที่ตั้ง เบอร์โทรศัพท์ จุดเด่นของสถานที่ท่องเที่ยว ให้ข้อมูลความเป็นมา กิจกรรมที่สามารถทำได้ สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น มีบ้านพัก ห้องน้ำ ลานกางเต็นท์ ที่จอดรถ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังได้รวบรวมปฏิทินการท่องเที่ยวเชิงเกษตรโดยรวบรวมกิจกรรมที่น่าสนใจแต่ละเดือน รวมถึงวางแผนการเดินทางจากพิกัดของสถานที่ก็ได้ โดยเราสามารถเข้าไปกำหนดระยะห่างของสถานที่ท่องเที่ยว นับเป็นอีกหนึ่งแอปพลิเคชันที่เข้ามาอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวเชิงเกษตร ที่จะได้ไปพักผ่อนหย่อนใจ เรียนรู้วิถีชีวิต หาความรู้ใหม่ ๆ


รวมทั้งยังเป็นการสร้างรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้น และเพื่อความมั่นใจจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 กรมส่งเสริมการเกษตร ได้มีการเตรียมความพร้อมของแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ให้มีการปฏิบัติตามหลัก social distancing เช่น การตรวจคัดกรองนักท่องเที่ยว,กำชับการสวมหน้ากากอนามัยทั้งผู้ให้บริการและนักท่องเที่ยว, การเว้นระยะห่างระหว่างนักท่องเที่ยว พร้อมทำความสะอาดจุดให้บริการอย่างสม่ำเสมอ, รวมทั้ง ตั้งจุดแสกน QR code ผ่านแอปพลิเคชัน ไทยชนะ








ความคิดเห็น