"กรมการข้าว"คุมเข้มตรวจสอบเส้นทางผลิตข้าวอินทรีย์สุรินทร์

ข้าวเป็นอาหารหลักและเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่ทำรายได้ในอันดับต้นๆ ของประเทศไทย โดยแต่ละปีทำรายได้ให้กับประเทศปีละประมาณ 200,000 ล้านบาท แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันการส่งออกข้าว มีการแข่งขันสูงทั้งตลาดภายในและภายนอกประเทศ ประกอบกับหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียมีศักยภาพในการผลิตข้าวสูงขึ้นทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ


ด้วยต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าทำให้ส่งผลกระทบต่อราคาการจำหน่ายข้าวไปยังต่างประเทศของไทยที่มีราคาแพงกว่าประเทศอื่นๆ ในระดับคุณภาพที่ใกล้เคียงกัน ดังนั้นการจะแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน จำเป็นต้องยกระดับการผลิตข้าวของชาวนาไทยโดยเฉพาะด้านคุณภาพและมาตรฐานการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานของประเทศไทยและก้าวไปสู่มาตรฐานสากลในที่สุด

นายประสงค์ ทองพันธ์ ผู้อำนวยการกองตรวจสอบรับรองมาตรฐานข้าวและผลิตภัณฑ์ กรมการข้าว กล่าวว่า ทิศทางการตลาดสินค้าข้าวของไทยในอนาคตต้องเน้นเรื่องคุณภาพเป็นสำคัญ เนื่องจากปริมาณข้าวมีเพียงพออยู่แล้ว เราจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นในตัวสินค้าข้าวให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ฉะนั้น การตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้า จึงเป็นกลไกสำคัญที่ใช้เป็นตัวการันตีคุณภาพของสินค้าชนิดนั้น ซึ่งปัจจุบันทุกประเทศจะมีมาตรฐานเป็นของตนเอง รวมทั้งประเทศไทยก็มีมาตรฐานสินค้าข้าวหลายตัว ซึ่งกรมการข้าว


โดยกองตรวจสอบรับรองมาตรฐานข้าวและผลิตภัณฑ์ เป็นหน่วยงานหลักในการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานข้าว ตามมาตรฐานสินค้าเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (Certification Authorize : CA) และกองตรวจสอบรับรองมาตรฐานข้าวและผลิตภัณฑ์ ในฐานะหน่วยรับรอง (Certification Body : CB) ที่ได้รับการรับรอง

จากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ตามมาตรฐานสากล ISO/IEC 17065 ได้ขับเคลื่อนงานด้านการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานข้าวคุณภาพครบวงจร ตั้งแต่การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับเมล็ดพันธุ์ข้าว GAP Seed การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับข้าวและข้าวหอมมะลิไทย หรือข้าว GAP ระบบการผลิตข้าวอินทรีย์ Organic Thailand การปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงสีข้าว และการผลิตข้าวสาร Q (Q Product) ทำให้เกิดระบบตามสอบ (Traceability) ของข้าวคุณภาพตามมาตรฐานสินค้าเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์


นอกจากนี้ได้พัฒนาระบบการตรวจสอบและออกใบรับรองมาตรฐานข้าวด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Rice Certification System : Rice Cert) มีกระบวนการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานข้าวอินทรีย์ตามมาตรฐานสินค้าเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่กระบวนการรับรอง ระบบการผลิตข้าวอินทรีย์ขอบข่ายแหล่งผลิตข้าวอินทรีย์ไปจนถึงกระบวนการแปรรูปและคัดบรรจุข้าวอินทรีย์

จนได้เป็นสินค้าข้าวคุณภาพ (Q Product) ผ่านการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ตามนโยบายของรัฐบาล รวมถึงการใช้เครื่องหมายรับรองข้าวพันธุ์แท้บนบรรจุภัณฑ์สินค้าข้าวคุณภาพ ซึ่งกระบวนการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานข้าวอย่างครบวงจร จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ดีของภาคการผลิตข้าวทั้งระบบของประเทศ สร้างความปลอดภัยและความเชื่อมั่นทั้งต่อตัวผู้ผลิตและผู้บริโภค


สำหรับโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ มีเป้าหมายพื้นที่ 1 ล้านไร่ โดยกองตรวจสอบรับรองมาตรฐานข้าวและผลิตภัณฑ์ ได้ดำเนินตรวจประเมินและให้การรับรองกลุ่มเกษตรกรรวมทั้งสิ้น 4,842 กลุ่ม เกษตรกร 102,566 ราย พื้นที่ 911,591.25 ไร่  กระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ

ตัวอย่าง จังหวัดสุรินทร์ซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ ได้ผ่านการรับรอง จำนวน 510 กลุ่ม เกษตรกร 9,460 ราย พื้นที่ 96,391.75 ไร่  คิดเป็นสัดส่วน 10% ของพื้นที่เป้าหมายโครงการ ซึ่งเกษตรกรรวมทั้งผู้ประกอบการโรงสีข้าวในพื้นที่ให้การตอบรับและสมัครเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก มีการเชื่อมโยงตลาดโดยเซ็น MOU ซื้อขายข้าวหอมมะลิอินทรีย์ในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด เพื่อนำผลผลิตที่ได้รับการรับรองมาตรฐานออกสู่ตลาดมากขึ้น


แม้ว่าในปี 2564 จะสิ้นสุดโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ 1 ล้านไร่ แต่สิ่งที่กรมการข้าวจะขับเคลื่อนต่อไปคือผลักดันกลุ่มเกษตรกรผลิตข้าวอินทรีย์ที่เข้มแข็งให้สามารถยกระดับการผลิตขึ้นไปสู่มาตรฐานต่างประเทศ เช่น EU , USDA เป็นต้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศมากขึ้นด้วย

โดยเฉพาะในอนาคตอันใกล้ตามมติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ถ่ายโอนภารกิจด้านการตรวจรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปสู่ภาคเอกชน ดังนั้น กรมการข้าวจึงต้องถ่ายโอนภารกิจด้านการตรวจรับรองมาตรฐานข้าวคุณภาพให้หน่วยรับรองหรือ CB ภาคเอกชนดำเนินการแทน ซึ่งกรมการข้าวจะทำหน้าที่ควบคุมกำกับให้ระบบการตรวจสอบรับรองเป็นไปตามมาตรฐาน มีการประมวลผลภาพรวม และคอยติดตามแนะนำส่งเสริมภาคเกษตรกรให้เข้าสู่ระบบดังกล่าว เนื่องจากมาตรฐานจะเป็นตัวการันตีคุณภาพของสินค้าและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค


นายณราวุฒิ ปิยโชติสกุลชัย ผู้อำนวยการกองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว กรมการข้าว กล่าวถึงผลการดำเนินโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร ปีการผลิต 2562/63 ว่า ขณะนี้มีการทำ MOU ระหว่างผู้ประกอบการกับกลุ่มเกษตรกรรวมทั้งสิ้น 536 กลุ่ม เกษตรกร 13,168 ราย มีการซื้อขายข้าวรวม 5,975.71 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 88.802 ล้านบาท

สำหรับพื้นที่จังหวัดสุรินทร์เป็น 1 ในแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่สำคัญของประเทศ มีกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ จำนวน 183 กลุ่ม โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ ทำ MOU กับกลุ่มเกษตรกรในโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์  1 ล้านไร่ จำนวนทั้งสิ้น 9 บริษัท ได้แก่ บริษัท ข้าว ซี.พี.จำกัด บริษัท เจ พี ไรซ์ อินเตอร์เนชันแนล (1998) จำกัด บริษัท ไชยศิริ ไรซ์ อินเตอร์เทรด หจก.สุรินทร์ไชยศิริ สหกรณ์อินทรีย์ทัพไทย


โรงสีข้าววิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลบุฤาษี สหกรณ์การเกษตรปราสาท จำกัด บริษัท พูนผล เทรดดิ้ง จำกัด บริษัท เอลล์บา บางกอก จำกัด โดยข้อมูลการรับซื้อข้าวหอมมะลิอินทรีย์จากกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ ปีการผลิต 2562/63 พบว่ามีกลุ่มเกษตรกรที่นำข้าวมาขายจำนวน 95 กลุ่ม ปริมาณการซื้อขายข้าวอยู่ที่ 819.03 ตัน ราคารับซื้อเฉลี่ย 17.45 บาท/กก. คิดเป็นมูลค่ารับซื้อทั้งสิ้น 13.650 ล้านบาท

ทั้งนี้ กรมการข้าวกำลังพัฒนาระบบควบคุมภายในระดับกลุ่ม (ICS) เพื่อยกระดับการรับรองข้าวอินทรีย์มาตรฐานต่างประเทศ ทั้งมาตรฐาน EU และ USDA ของอเมริกา ตั้งเป้าดำเนินการในพื้นที่นำร่อง 10 จังหวัดในภาคอีสาน ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ นครราชสีมา ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ชัยภูมิ นครพนม บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และยโสธร รวมเกษตรกรจำนวน 1,161 ราย คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 15,187 ไร่ ซึ่งผลผลิตข้าวอินทรีย์ที่ผ่านมาตรฐานต่างประเทศนี้จะขายข้าวในราคาที่สูงกว่าตลาดอย่างน้อยตันละ 2,000 บาท ส่วนผู้ประกอบการก็จะสามารถขายสินค้าข้าวในตลาด EU หรืออเมริกาได้ ซึ่งรัฐมีโควตาส่งออกให้ปีละไม่ต่ำกว่า 1,000 ตัน









ความคิดเห็น