"กรมชลฯ"จับมือท้องถิ่นลุ่มเจ้าพระยาบริหารน้ำลดขาดแคลน

กรมชลประทาน จับมือท้องถิ่นในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ร่วมกันบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งนี้ ตามแผนฯหวังลดเสี่ยงขาดแคลนน้ำ ย้ำน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคต้องเพียงพอ

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน(30 ม.ค. 64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่/ขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 44,547 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 59 ของความจุอ่างฯรวมกัน  เป็นน้ำใช้การได้ 20,616 ล้าน ลบ.ม. ผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งทั้งประเทศ  มีการใช้น้ำไปแล้ว 7,658 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 45 ของแผนฯ  เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์)

มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 11,075 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 45 ของความจุอ่างฯ เป็นปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 4,378 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำไปแล้ว 2,200 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 55 ของแผนฯ เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีจำนวนจำกัด จำเป็นต้องจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้น ตามลำดับความสำคัญโดยเน้นน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศตลอดจนรักษาเสถียรภาพของคันคลอง และสำรองน้ำไว้สำหรับช่วงต้นฤดูฝนหน้า



ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฤดูแล้งปีนี้ มีปริมาณน้ำต้นทุนค่อนข้างน้อย ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทุกแห่ง ปฏิบัติตามมาตรการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งอย่างเคร่งครัด พร้อมบูรณาการร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อร่วมกันบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ อาทิ การกำหนดให้ประตูระบายน้ำและอาคารเชื่อมต่อที่รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา เปิดรับน้ำเฉพาะเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นครั้งคราว และขอความร่วมมือสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเพื่อการเกษตรไม่สูบน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูก 

ส่วนสถานีสูบน้ำของการประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค และการประปาส่วนท้องถิ่น สามารถทำการสูบน้ำได้ตามแผนการสูบน้ำที่ได้แจ้งไว้กับกรมชลประทาน พร้อมขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและควบคุมไม่ให้มีการปล่อยน้ำเสียลงในแม่น้ำ คู คลอง และแหล่งน้ำต่างๆ เนื่องจากจะทำให้ต้องระบายน้ำเพิ่มขึ้น เพื่อเจือจางน้ำที่เน่าเสีย 

จะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำที่ต้องสำรองไว้ให้เพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศตลอดฤดูแล้งนี้ รวมทั้งให้ดำเนินการประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำให้แก่เกษตรกรและประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง

อย่างไรก็ตามกรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดด้วยความเป็นธรรมและทั่วถึง เพื่อให้ทุกพื้นที่มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคตลอดในช่วงฤดูแล้งนี้ หากประชาชนหรือหน่วยใดต้องการความช่วยเหลือ สามารถร้องขอไปยังโครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.1460 สายด่วนกรมชลประทานได้ตลอดเวลา






ความคิดเห็น