เปิดแคมเปญ “ซื้อสินค้าเกษตรไทย เกษตรกรอยู่ได้ ประเทศไทยอยู่รอด”

กรมส่งเสริมการเกษตรเปิดโมเดลแนวทางบริหารจัดการผลผลิตและตลาดสินค้าเกษตร ช่วยเหลือเกษตรกรช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาด กระจายผลผลิตเกษตรคุณภาพให้คนไทยได้บริโภค ขณะที่ยังส่งออกต่างประเทศไม่ได้ เปิดแคมเปญ “ซื้อสินค้าเกษตรไทย เกษตรกรอยู่ได้ ประเทศไทยอยู่รอด” 

นางกุลฤดี พัฒนะอิ่ม รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด-19) ที่แพร่กระจายไปทั่วโลกในขณะนี้ ส่งผลกระทบในวงกว้างกับผลผลิตเกษตรของพี่น้องเกษตรกรที่กำลังจะทยอยออกสู่ตลาดในระยะนี้ ทั้งไม้ผล ไม้ดอก และพืชผักต่าง ๆ ซึ่งไม่สามารถส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศได้ อีกทั้งภาคธุรกิจและสถานบริการหลายแห่งปิดตัวลง ทำให้ลดจำนวนการสั่งซื้อสินค้าเกษตรลง เศรษฐกิจของประเทศชะลอตัว ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและผลผลิตกระจุกตัวในแต่ละพื้นที่ 

ทั้งนี้กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดทำแนวทางการบริหารจัดการผลผลิตและตลาดสินค้าเกษตรในแต่ละระดับ โดยการจัดการระดับพื้นที่ ในระดับอำเภอ กรมส่งเสริมการเกษตรได้สั่งการให้สำนักงานเกษตรอำเภอติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์การผลิตการตลาดสินค้าเกษตรเป็นระยะ และในระดับจังหวัดให้ดำเนินการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์และแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง



ทั้งพาณิชย์จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน ให้บริหารจัดการสินค้าในพื้นที่โดยการจัดหาแหล่งรับซื้อผลผลิต และใช้พื้นที่ใน “ตลาดเกษตรกร” ทั้ง 77 จังหวัด ที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดตั้งขึ้น นอกจากนี้ ให้สำนักงานเกษตรจังหวัดเป็นศูนย์กลางในการประชาสัมพันธ์การจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางต่าง ๆ รวมทั้งเสนอคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) พิจารณาแก้ไขปัญหาอีกทางหนึ่งด้วย

การจัดการระดับส่วนกลาง ทั้งในระดับเขตและกรมจะเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาเชิงบูรณาการ กรณีที่ระดับพื้นที่ไม่สามารถดำเนินการได้ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจะประสานงานจัดหาช่องทางจำหน่ายและกระจายสินค้าด้านการเกษตรต่าง ๆ ให้กับเกษตรกร ได้แก่ ตลาด Modern trade เช่น Tesco Lotus, Big C และ Makro ตลาดกลางค้าส่งขนาดใหญ่ เช่น ตลาดไท ตลาดเฉพาะกิจ เช่น จำหน่ายสินค้าในรูปแบบค้าส่งร่วมกับบริษัทไปรษณีย์ไทยจำกัด การส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ และช่องทางตลาดอื่น ๆ พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับบริษัทขนส่ง เพื่อสนับสนุนเกษตรกรที่จำหน่ายสินค้าด้านการเกษตรออนไลน์

การจัดการระดับประเทศ ในกรณีของพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญซึ่งมีการบริหารจัดการทุกมิติอยู่แล้ว โดยคณะกรรมการบริหารระดับประเทศ (บอร์ด) เช่น ผลไม้ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย เป็นต้น กรมส่งเสริมการเกษตรจะได้ดำเนินการนำเสนอบอร์ดที่กรมฯ ทำหน้าที่เป็นเลขานุการ และประสานงานกับหน่วยงานที่ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการของบอร์ดอื่น นำเสนอบอร์ดของชุดนั้นเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาโดยเร็ว



ขณะนี้ฤดูกาลของไม้ผลคุณภาพกำลังจะทยอยออกสู่ตลาดในหลายพื้นที่ เช่น มะม่วง มีทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันตก ทุเรียน มังคุด เงาะในภาคตะวันออก ลิ้นจี่และลำไยในภาคเหนือ ผลไม้บางชนิดยังไม่สามารถส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศได้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-1

โดยเฉพาะที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีพื้นที่ปลูกมะม่วง 50,764 ไร่ พื้นที่ให้ผล 36,925 ไร่ เป็นมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทองซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ และพื้นที่ให้ผลผลิตแล้ว 18,000 ไร่ ปลูกมากที่สุดใน อ.สามร้อยยอด คาดการณ์ว่าปริมาณผลผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองจะออกมากที่สุดในช่วงวันที่ 15 – 28 กุมภาพันธ์ 2564 จำนวน 1,530 ตัน คิดเป็นมูลค่าราว 25 ล้านบาท 

สำนักงานเกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้ประชุมหารือร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง วางแผนกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาผลผลิตล้นตลาดและจะส่งผลกระทบกับเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงในพื้นที่ เกิดเป็น “ประจวบคีรีขันธ์โมเดล” 



โดยระดับอำเภอ สำนักงานเกษตรอำเภอ/จังหวัด วิเคราะห์สถานการณ์ และคาดการณ์ปริมาณผลผลิตและช่วงเวลาที่ผลผลิตจะออกสู่ตลาดล่วงหน้า ระดับจังหวัด ประชุมวางแผนแก้ไขปัญหาร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และภาคเอกชน (ล้ง) จัดหาจุดจำหน่ายเพื่อช่วยระบายสินค้าในช่วงผลผลิตออกมาก 

เช่น สถานีบริการน้ำมัน ปตท. ระหว่างวันที่ 19 – 25 กุมภาพันธ์ 2564 จัดงานเทศกาลรณรงค์บริโภคมะม่วงในห้างสรรพสินค้าร่วมกับศูนย์การค้ามาร์เก็ตวิลเลจหัวหิน ระหว่างวันที่ 27 – 28 กุมภาพันธ์ 2564 และกระจายผลผลิตโดยสำนักงานเกษตรจังหวัดประชาสัมพันธ์รับคำสั่งซื้อผลผลิตภายในจังหวัด และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดประชาสัมพันธ์รับคำสั่งซื้อใน 14 จังหวัดภาคใต้ ผ่านสำนักงานพาณิชย์จังหวัดต่าง ๆ ในรูปแบบการส่งมะม่วงของดีเกรดพรีเมี่ยมบรรจุกล่อง 2 ขนาด 

คือ ขนาดกล่องละ 10 ก.ก. ราคา 450 บาท และขนาดกล่องละ 4 ก.ก. ราคา 200 บาท และได้ประสานงานมาที่ส่วนกลาง ระดับกรม ช่วยประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ในภาพรวม พร้อมเชิญชวนเที่ยวงาน “เทศกาลมะม่วงสามร้อยยอด ประจำปี 2564” ณ บริเวณสถานีบริการน้ำมัน ปตท.สามร้อยยอด และ ปตท.กุยบุรี ฝั่งขาล่องใต้ 





ความคิดเห็น