"เกษตรฯ"ตอกย้ำทุเรียนไทยไร้โควิด ยืนหนึ่งแชมป์ผลไม้แดนมังกรนำเข้ามากสุด

กรมวิชาการเกษตร  ตอกย้ำความมั่นใจราชาผลไม้ไทยไร้โควิด  ยันควบคุมกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางตามมาตรการองค์การอนามัยโลก  ฮุบตำแหน่งแชมป์ผลไม้จีนนำเข้าประเทศมากสุด   ปี 63 โกยรายได้เข้าไทยกว่า 6 หมื่นล้านบาท   ปี 64 ใส่เกียร์เดินหน้าตรวจเข้มข้นระดมเจ้าหน้าที่กรมลุยให้บริการเพิ่มจากเดิม 2 เท่า  ดันส่งออกฉลุย

นายพิเชษฐ์  วิริยะพาหะ  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า  ในช่วงระหว่างเดือนมีนาคมเป็นต้นไปเป็นช่วงที่เข้าสู่ฤดูกาลผลไม้ในภาคตะวันออกให้ผลผลิตโดยเฉพาะทุเรียนซึ่งจะมีผลผลิตออกมากที่สุดในช่วงเดือนเมษายน  โดยประเทศจีนเป็นตลาดนำเข้าทุเรียนผลสดที่ใหญ่สุดของไทย  จากรายงานของฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว พบว่าในปี 2563 ที่ผ่านมา จีนนำเข้าทุเรียนผลสดจากไทยปริมาณทั้งสิ้น 575,000 ตัน  คิดเป็นมูลค่าถึง 69,000 ล้านบาท   



ส่งผลให้ทุเรียนครองแชมป์ผลไม้นำเข้าอันดับ 1 ของจีนแซงหน้าการนำเข้าเชอรี่ผลสดทั้งปริมาณและมูลค่า  ถึงแม้ว่าปริมาณการนำเข้าจะลดลงไป 5 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปี  2562 แต่มูลค่ากลับเพิ่มมากขึ้นถึง 44 เปอร์เซ็นต์  โดยทุเรียนมีสัดส่วนมูลค่าการนำเข้าสูงถึง 23 % เมื่อเทียบกับมูลค่าการนำเข้าผลไม้หลักทั้งหมดจากต่างประเทศของจีน

แม้ทุเรียนไทยจะเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีนก็ตามแต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  นางสาวมนัญญา  ไทยเศรษฐ์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ได้กำชับให้กรมวิชาการเกษตรติดตามผลการดำเนินงานการส่งออกในฤดูกาลผลิต 2564 อย่างใกล้ชิด 



เนื่องจากที่ผ่านมาเคยมีการนำเสนอข่าวว่าประเทศจีนระงับการนำเข้าทุเรียนจากประเทศไทยสาเหตุจากตรวจพบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในตู้คอนเทรนเนอร์ขนส่งทุเรียน  ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้ประสานงานกับอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายเกษตร) ประจำกรุงปักกิ่งและได้รับหนังสือตอบยืนยันกลับมาว่ารัฐบาลจีนไม่เคยระงับการนำเข้าทุเรียนจากไทยเนื่องจากตรวจพบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แต่อย่างใด

ที่ผ่านมาแม้จีนจะยังไม่เคยตรวจพบปัญหาการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในสินค้าเกษตรจากไทยแต่กรมวิชาการเกษตรก็ได้จัดทำแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับโรงคัดบรรจุผลไม้   เพื่อให้ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุผลไม้ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ   โดยยึดตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่จีนยอมรับและแนะนำให้ประเทศคู่ค้าปฏิบัติด้วยเช่นกัน 



เพื่อควบคุมสุขอนามัยของพนักงานและสิ่งแวดล้อมในสถานที่ผลิต  โดยกรมวิชาการเกษตรได้จัดทำเอกสารการดำเนินการดังกล่าวทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาจีนส่งให้สำนักงานศุลกากรของจีนทราบแล้ว  พร้อมกับยืนยันว่าไทยได้ให้ความสำคัญกับการควบคุมเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในผลไม้ส่งออกตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง   โดยดำเนินการตามแนวทางของ WHO และ FAO เพื่อตอกย้ำให้เกิดความมั่นใจในความปลอดภัยของผลไม้ไทยในปี 2564

ในปี 2564 นี้ กรมวิชาการเกษตร ไม่เพียงแต่จะเข้มงวดการตรวจศัตรูพืชในผลผลิตเท่านั้น  แต่ยังเน้นการตรวจทุเรียนด้อยคุณภาพหรือทุเรียนอ่อน   รวมถึงการปฏิบัติตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมอบหมายให้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จันทบุรี (สวพ.6) ร่วมกับหน่วยงานกรมวิชาการเกษตรในพื้นที่ภาคตะวันออก จัดเจ้าหน้าที่เป็นกำลังเสริมให้บริการเพิ่มจากเดิมจำนวนถึง 2 เท่า เพื่อปฏิบัติงานออกใบรับรองสุขอนามัยพืชร่วมกับเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชให้เป็นด้วยความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น  



โดย สวพ.6 จะรับภารกิจหลักตรวจทุเรียนอ่อนและกำกับดูแลการใช้ใบรับรอง GAP ของผู้ส่งออก เพื่อผลักดันการส่งออกผลไม้ของภาคตะวันออกที่มีคุณภาพได้ตามมาตรฐาน GAP และ GMP ซึ่งสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในแต่ละปีจำนวนมาก  รวมทั้งยังสามารถรักษาตลาดทุเรียนไทยในประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดนำเข้าทุเรียนที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของไทยได้ต่อไป










ประภัตร"สั่ง คุมเข้มมาตรการป้องกันโรคระบาด ‘ลัมปี สกิน’ ในโค กระบือตามแนวชายแดน หลังพบการระบาดในเมียนมาร์ พร้อมยกระดับคอกกักให้มีมาตรฐาน 

เมียนมาร์ระบาดหนัก ! คุมเข้ม‘ลัมปี สกิน’ ในโค-กระบือตามแนวชายแดน

นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรฯกล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือมาตรการควบคุมป้องกันโรคระบาด และผ่อนปรนการนำเข้าโคเนื้อ ร่วมกับผู้ประกอบการเจ้าของคอกกัก ผู้เลี้ยงโค เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาตาก อ.เมืองตาก จ.ตาก ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ ได้ติดตามสถานการณ์โรคในสัตว์อย่างใกล้ชิด พร้อมสั่งการให้หน่วยงานของกรมปศุสัตว์ โดยปศุสัตว์จังหวัด ปศุสัตว์อำเภอ และชุดเฉพาะกิจกรมปศุสัตว์ ในทุกพื้นที่ดำเนินมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้รับรายงานว่าประเทศเมียนมามีการแจ้งพบการระบาดของโรคลัมปี สกิน (Lumpy skin disease) ในโค กระบือ ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่พบในโค กระบือ โดยพบตุ่มเนื้อบนผิวหนังและเยื่อเมือกทั่วร่างกาย จะตกสะเก็ดและเป็นแผลหลุม สัตว์จะมีไข้หายใจลำบาก ในโคนมอาจพบน้ำนมลดอัตราป่วยมากกว่าร้อยละ 5 


อย่างไรก็ตามในฐานะที่ตนกำกับดูแลกรมปศุสัตว์ จึงสั่งการด่วนให้จัดประชุมหารือเพื่อหาแนวทางป้องกันการแพร่ระบาดของโรค โดยเบื้องต้น ที่ประชุมได้มีมติร่วมกันหากมีการผ่อนปรนนำเข้าโค กระบือ ดังนี้ 1.ให้ตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดเพื่อตรวจสอบ และปฏิบัติตามข้อกำหนดของกรมปศุสัตว์อย่างเคร่งครัด 2.ระยะเวลากักที่ด่านกักกันสัตว์หรือสถานที่กักกันสัตว์เอกชนที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ เพื่อสังเกตอาการ 28 วัน และตรวจเลือดทุกตัวในวันที่ 14 3.ดำเนินการปรับปรุงระบบความปลอดภัยทางชีวภาพของคอกกักเช่น กำจัดบริเวณที่มีน้ำขังเพื่อลดแมลงและสัตว์พาหะ  พ่นยาฆ่าเชื้อ มีบ่อจุ่มน้ำยาฆ่าเชื้อที่ทางเข้าออก และทำมุ้งรอบคอกกัก และ 5.วัวและกระบือทุกตัวต้องเข้าแพลตฟอร์ม e-Catt เพื่อติดตามผ่านระบบออนไลน์ 


ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯ มีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน ซึ่งหากเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาได้มีการสั่งปิดด่านเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการผ่อนปรนก็อาจส่งผลกระทบต่อผู้เลี้ยงโคเช่นกัน ดังนั้น ที่ประชุมจึงหารือร่วมกันในมาตรการป้องกันเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้า และเพิ่มประสิทธิภาพป้องกันโรคมากขึ้น โดยเตรียมเปิดด่านนำเข้าโค กระบือ ในวันที่ 18 มี.ค. 64 และให้กรมปศุสัตว์ตั้งด่านสกัดการลักลอบนำเข้าสัตว์อย่างเข้มงวด พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ให้ความรู้เรื่องมาตรการป้องกันแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือ รวมทั้งตรวจสถานที่กักสัตว์เพื่อให้ได้มาตรฐาน


สำหรับกรมปศุสัตว์ มีภารกิจควบคุม ป้องกัน และกำจัดโรคระบาด ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 เพื่อเป็นมาตรการในการป้องกันและควบคุมโรคอย่างเข้มงวด โดยองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) แจ้งพบการระบาดของโรคลัมปี สกิน (Lumpy skin disease) อย่างต่อเนื่องในปี 2562 ในภูมิภาคเอเชียหลายประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐประชาชนบังคลาเทศ สาธารณรัฐอินเดีย ซึ่งกลุ่มประเทศดังกล่าวมีความสัมพันธ์ทางการค้าด้านปศุสัตว์กับประเทศไทย และจากการศึกษาของ OIE SRR พบว่า โค กระบือที่มาจากประเทศเมียนมาร์นั้น บางส่วนมีการนำเข้าจากสาธารณรัฐประชาชนบังคลาเทศ สาธารณรัฐอินเดีย ก่อนจะมีการส่งมายังประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศไทยจึงมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดสู่โคและกระบือ โดยได้รับเชื้อผ่านทางการนำเข้าเคลื่อนย้ายสัตว์ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ตลอดจนแมลงพาหะจากประเทศกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว และยังส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจทางการค้า และผลผลิต หากมีการระบาดของโรคเกิดขึ้น โดยขณะนี้ประเทศไทยยังไม่พบรายงานการเกิดโรคลัมปี สกิม ซึ่งหากมีการระบาดของโรคดังกล่าวเกษตรกรบางรายประสบภาวะขาดทุนในการเลี้ยงโค และยังส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจทางการค้า และผลผลิต อีกด้วย


/////

ความคิดเห็น