โควิด-19กระทบตั้งคณะทำงานช่วยเกษตรกรปลูกกล้วยไม้

นายขจร เราประเสริฐ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการกลุ่มสินค้ากล้วยไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ ว่าจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้เป็นวงกว้าง ในขณะที่ต้นกล้วยไม้ยังคงให้ผลผลิตในแปลงปลูกได้ตามปกติ สวนทางกับปริมาณการส่งออกที่ลดลง ส่งผลต่อมูลค่าการส่งออกและราคาจำหน่ายในภาพรวมลดลงตามไปด้วย  

ทั้งนี้ ในปี 2564ที่ประชุมมีการวางแผนแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ปลูกกล้วยเลี้ยงไม้และผู้ส่งออกอย่างต่อเนื่อง ในรูปแบบการพัฒนาเพื่อให้เกิดความยั่งยืน 4 แนวทาง ตามที่คณะทำงานฯ เสนอ ได้แก่ 1) การจัดกล้วยไม้สัญจร โดยสหกรณ์ผู้ปลูกกล้วยไม้ไทย จำกัด ได้จัดทำแผนการจัดการกล้วยไม้สัญจรในปี 2564 ทุกเดือน ๆ ละ 1 ครั้ง  2) การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งเจรจาลดค่าขนส่ง โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)





3)การดูแลแก้ไขปัญหาน้ำเค็ม โดยประสานงานกับกรมชลประทานในการดำเนินการบริหารจัดการน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเค็มและบริหารจัดการน้ำต้นทุนในการผลักดันน้ำเค็ม พร้อมสนับสนุนรถบรรทุกน้ำในการบริการช่วยเหลือเกษตรกร และ 4) การชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจัดทำโครงการส่งเสริมสภาพคล่องในการรวบรวมผลผลิตกล้วยไม้ตัดดอกปี 2565 เพื่อขอรับการสนับสนุนเงินกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรเป็นค่าชดเชยดอกเบี้ย ในช่วงเดือนกรกฎาคม - ธันวาคม 2565

นอกจากนั้นที่ประชุมได้มีมติเพิ่มเติมให้มีคณะทำงานศึกษาแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ โดยใช้งบประมาณภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาเกษตรกรผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานคณะทำงานฯ และมอบหมายฝ่ายเลขาฯ จัดทำคำสั่งคณะทำงานฯ เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ต่อไปด้วย










ความคิดเห็น