“ประมงอาสาพาปลากลับบ้าน”คืนประชากร“ปลาไทย”แล้วกว่า 38.54 ล้านตัว

“ประมงร่วมอาสาพาปลากลับบ้าน” 20 วัน คืนประชากร “ปลาไทย” สู่หนองหาร - กว๊านพะเยา แล้วกว่า 38.54 ล้านตัวตั้งแคมป์เพาะผสมพันธุ์ปลา ปล่อยคืนในถิ่นกำเนิดของแม่พันธุ์ปลา เพื่อเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำ 

นายบัญชา  สุขแก้ว  รองอธิบดีกรมประมง  เปิดเผยว่า กรมประมงเปิดโครงการ “ประมงร่วมอาสาพาปลากลับบ้าน” โดยร่วมกับชุมชนในพื้นที่ ตั้งแคมป์เพาะผสมพันธุ์ปลาไทย เช่น ปลาสวาย ปลาตะเพียน ปลาตะเพียนทอง ปลากระแห ปลาสร้อยขาว ปลาเทพา  ปลากาดำ ฯลฯ ซึ่งเป็นปลาในกลุ่มที่มีการอพยพจากลำน้ำโขง เพื่อจะไปวางไข่เลี้ยงตัวอ่อนในถิ่นกำเนิด ใน 2 แหล่งน้ำสำคัญ ได้แก่ กว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา มีระยะทางไกลกว่า 170 กิโลเมตร และ หนองหาร จังหวัดสกลนคร มีระยะทางไกลกว่า 123 กิโลเมตร แต่ด้วยระยะทางที่ไกลมากและสภาพสิ่งแวดล้อมระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงไป



จึงเป็นอุปสรรคสำคัญทำให้ปลาไม่สามารถว่ายทวนน้ำไปวางไข่เลี้ยงตัวอ่อนในถิ่นกำเนิดได้  จึงจำเป็นต้องใช้เทคนิคการเพาะพันธุ์แบบง่ายและประหยัด เรียกว่า อุปกรณ์เพาะพันธุ์ปลาแบบเคลื่อนที่ (Mobile hatchery) ช่วยในการผสมพันธุ์ครั้งนี้ โดยจับพ่อแม่พันธุ์ปลามาฉีดฮอร์โมนให้สมบูรณ์เพศ แล้วรีดน้ำเชื้อผสมไข่ ดูแลลูกปลาให้แข็งแรง ใช้เวลา 4 – 5 วัน แล้วจึงลำเลียงนำลูกปลาไปปล่อยในถิ่นแม่ 



สำหรับการดำเนินโครงการในครั้งนี้ เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา กรมประมงได้ส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ชาวบ้านสามารถเพาะพันธุ์เองได้ และนำไปปล่อยคืนสู่ หนองหาร และ กว๊านพะเยา โดยตั้งเป้าจะปล่อยปลาพื้นที่ละ 30 ล้านตัว รวมจำนวนทั้งสิ้น 60 ล้านตัว ซึ่งผลปรากฏว่า ปัจจุบันนี้ สามารถเพาะพันธุ์และปล่อยปลาไปแล้วรวมจำนวนกว่า 38,540,000 ตัว 



ดังนี้  พื้นที่ หนองหาร จังหวัดสกลนคร มีการปล่อยพันธุ์ปลาตะเพียนขาว ปลาสวาย ปลากระแห ไปแล้ว จำนวนรวมกว่า 12,840,000 ล้านตัว พื้นที่ กว้านพะเยา จังหวัดพะเยา ปล่อยพันธุ์ปลาตะเพียนขาว ปลาตะเพียนทอง ปลาสร้อยขาว และปลากาดำ ไปแล้ว รวมจำนวนกว่า 24,000,000 ล้านตัว 

ที่งนี้วันที่ 27 กรกฎาคม 2564 มีการปล่อยลงสู่กว๊านพะเยาอีกกว่า 14,000,000 ล้านตัวโดยผลผลิตลูกปลาจะเติบโตเผยแพร่ขยายพันธุ์ภายใน 6-8 เดือน ในอนาคต กลายเป็นแหล่งการทำประมงที่สำคัญในภูมิภาค สร้างอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวประมงและประชาชนในพื้นที่ชุมชนรอบๆ บริเวณแหล่งน้ำทั้ง 2 แห่ง จำนวนกว่า 49 ชุมชน ได้ใช้ประโยชน์ในการทำประมง และเป็นแหล่งโปรตีนให้กับประชาชน ต่อไป







ความคิดเห็น