"ชลประทาน"ปรับปรุง 3 โครงการขนาดกลาง จ.ลำปาง

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน เป็นประธานเปิดกิจกรรมสื่อสัญจรออนไลน์ โครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการชลประทานขนาดกลางในเขตจังหวัดลำปาง โดยมี นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ นายธีระเทพ เทพสุยะ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานลำปาง นายศุภชัย พินิจสุวรรณ ผู้อำนวยการส่วนวิศวกรรม สำนักงานชลประทานที่ 2 พร้อมด้วยผู้แทนจากบริษัทที่ปรึกษา และสื่อมวลชน เข้าร่วมกิจกรรมผ่านระบบ Video Conference จากห้องประชุม 300 อาคารอำนวยการ กรมชลประทาน กรุงเทพมหานคร 

นายเฉลิมเกียรติ เปิดเผยว่า โครงการชลประทานขนาดกลางในเขตจังหวัดลำปาง ดำเนินการก่อสร้างและบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2514  ทำให้อาคารหัวงานระบบชลประทาน และระบบระบายน้ำอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม ประกอบกับความต้องการในการใช้น้ำเพื่อการเกษตรและภาคส่วนอื่นๆ เปลี่ยนแปลงไป 



จึงจำเป็นต้องศึกษาความเหมาะสมเพื่อพิจารณาปรับปรุงโครงการชลประทานขนาดกลางให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น วัตถุประสงค์ของโครงการดังกล่าว เพื่อรวบรวมข้อมูลพื้นฐานปัจจุบัน ตลอดจนความคิดเห็นที่มีต่อการพัฒนาโครงการ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำแผนหลักการปรับปรุงโครงการชลประทานขนาดกลาง และคัดเลือกโครงการนำมาศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงโครงการ รวมถึงศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาและปรับปรุงโครงการ 

การดำเนินงานได้แบ่งแผนงานเป็น 4 กลุ่มคือ แผนงานซ่อมแซม แผนงานปรับปรุง แผนงานศึกษาความเหมาะสม และแผนงานบริหารจัดการน้ำ โดยโครงการชลประทานขนาดกลางมีทั้งสิ้น 30 โครงการ คัดเลือกการปรับปรุง 3 โครงการ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์โดยรวมในพื้นที่ลุ่มน้ำมากที่สุดดังนี้ 1.โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ทะ บ้านผาลาด ต.พระบาท อ.เมือง อายุโครงการ 50 ปี 2.โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ทาน บ้านแม่กัวะ ต.แม่กัวะ อ.สบปราบ อายุโครงการ 36 ปี 3.โครงการอ่างเก็บน้ำแม่อาบ บ้านปากกอง ต.นาโป่ง อ.เถิน อายุโครงการ 36 ปี 

สำหรับโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการชลประทานขนาดกลางในเขตจังหวัดลำปาง เริ่มดำเนินการเมื่อ 8 มิ.ย. 2563 – 31 ส.ค. 2564 ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับคือ เขื่อนมีความมั่นคงมากขึ้น มีน้ำต้นทุนเพิ่ม อ่างเก็บน้ำเก็บกักน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีระบบตรวจสอบความมั่นคงของเขื่อน สามารถติดตามตรวจวัดและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำไปประกอบการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่โครงการให้มีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์ทั้งอุทกภัยและภัยแล้ง ขณะที่การปรับปรุงระบบส่งน้ำ ทำให้คลองส่งน้ำมีศักยภาพสูงขึ้น เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน และสามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ






ความคิดเห็น