Pig Board ชงปรับโครงสร้างเกษตรกรเลี้ยงสุกรทั้งประเทศ

นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) โดยมีนายชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ และกรรมการ/ผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ เข้าร่วมการประชุม ว่า การประชุมครั้งนี้ได้มีการพิจารณาที่สำคัญ เรื่องสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้เสนอโครงการฟื้นฟูเยียวยา และปรับโครงสร้างการเลี้ยงสุกรของเกษตรกรรายกลาง ถึงรายย่อยทั้งประเทศเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันแบบยั่งยืนรวมทั้งการคัดเลือกคณะกรรมการภาคเอกชนและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการฯ (pig board)

สำหรับโครงการฟื้นฟูเยียวยา และปรับโครงสร้างการเลี้ยงสุกรของเกษตรกรรายกลางถึงรายย่อยทั้งประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันแบบยั่งยืน ผู้แทนจากสภาเกษตรกรแห่งชาติได้เสนอโครงการดังกล่าว 3 มาตรการ ประกอบด้วย 1. มาตรการเร่งด่วน ที่ต้องดำเนินการทันที เสนอให้มีมาตรการต่างๆ ในการลดความเสี่ยงและการควบคุมโรคในสุกร 



รวมถึงการเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโรคในสุกร 2. ระยะปานกลาง เสนอให้เร่งรัดให้กรมปศุสัตว์เพิ่มศักยภาพในการตรวจวินิจฉัย ชันสูตรโรค ที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้บริการแก่เกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว และสนับสนุนให้มีการวิจัย และพัฒนาการเลี้ยงสุกรเข้าสู่ระบบ Pricision agriculture ที่เหมาะสมกับเกษตรกรแต่ละระดับ รวมถึงการวิจัยวัคซีนและเวชภัณฑ์ต่างๆ โดยสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศร่วมกับกรมปศุสัตว์

3. มาตรการระยะยาว ได้เสนอให้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ให้ประเทศไทยปลอดจากโรคปากและเท้าเปื่อย หรือควบคุมโรคได้ด้วยวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ และสนับสนุนให้ภาคเอกชนหรือกลุ่มเกษตรกร ตั้งโรงงานผลิตวัคซีนสำหรับสัตว์ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อใช้ในประเทศและจำหน่ายในกลุ่มอาเซียน 

โดยอาจอยู่ในรูป 4 P โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ฝ่ายเลขานุการดำเนินการจัดประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาฯ เพื่อพิจารณาความสัมพันธ์ ความเชื่อมโยง ด้านระเบียบ ข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการเพื่อไม่ให้ขัดกับกฎเกณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะกฎหมายด้านการเงินการคลังอีกครั้ง ก่อนเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการฯ อีกครั้ง ภายใน 45 วัน



นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อเพื่อร่วมคัดเลือกเป็นคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการฯ (pig board) โดยมีผู้ถูกเสนอชื่อจำนวน 12 ท่าน จาก 7 หน่วยงาน แบ่งตามความเชี่ยวชาญได้เป็น 3 ด้านคือ 1. ด้านการผลิตสุกร จำนวน 5 ท่าน 2. ด้านปัจจัยการผลิต จำนวน 5 ท่านด้านการตลาด จำนวน 2 ท่าน 

โดยที่ประชุมได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เนื่องจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ ได้กำหนดความเชี่ยวชาญไว้หลากหลายด้าน ร่วมทั้งเรื่องการบริหาร การเงินการคลัง ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ ต่อการพัฒนาการเลี้ยสุกร แต่มีผู้สัมัครเพียง 3 ด้านเท่านั้น จึงเห็นควรให้มีการประกาศรับสมัครบุคคลเพื่อเข้าร่วมการคัดเลือกเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มเติมอีกครั้ง











ความคิดเห็น