"ฝนหลวง"ห่วง​น้ำต้นทุนเขื่อนใหญ่เร่งปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำรับหน้าแล้ง

"อธิบดีกรมฝนหลวง"ห่วง​น้ำต้นทุนเขื่อนใหญ่ภาคเหนือมีปริมาณน้อย​ บินตรวจสถานการณ์เหนือเขื่อนภูมิพล​ เร่งรัดติดตามปฏิบัติการฝนหลวงโค้งสุดท้าย ตั้งเป้าเติมน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพลรองรับพื้นที่เกษตรหน้าแล้ง

นายสำเริง แสงภู่วงค์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร บินตรวจสถานการณ์น้ำเหนือเขื่อนภูมิพล​ อำเภอสามเงา​ จ.ตาก​ พร้อมติดตามการปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ภาคเหนือ โดยมีนายรังสรรค์ บุศย์เมือง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือจ.เชียงใหม่ นายวรพจน์ วรพงษ์ ผู้อำนวยการเขื่อนภูมิพลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ 



อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก เป็นเขื่อนคอนกรีตโค้งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แต่จากข้อมูลพบว่าแม้ที่ผ่านมาจะฝนตกอย่างต่อเนื่อง แต่ปริมาณน้ำต้นทุนยังต่ำกว่าเกณฑ์ จำเป็นที่กรมฝนหลวงฯจะต้องเร่งปฏิบัติการฝนหลวงในโค้งสุดท้ายของปีนี้ เพื่อเพื่อเติมปริมาณน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนภูมิพลให้ได้ตามเป้าหมายเพียงพอกับการองรับการใช้น้ำในพื้นที่ภาคเกษตร อุปโภค บริโภคในพื้นที่ภาคเหนือ 

จากการสำรวจปริมาณน้ำในเขตลุ่มน้ำเขื่อนหลัก ๆ ในภาคเหนือยังมีปริมาณน้ำต้นทุนค่อนข้างน้อย ส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนน้ำ ดังนั้น การปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนและอ่างเก็บน้ำพื้นที่ภาคเหนือ จึงถือเป็นภารกิจหลักของกรมฝนหลวงในการหาแนวทางการาช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเร่งด่วนและทันท่วงที 



นายสำเริง กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนภูมิพลในปัจจุบันด้วยว่า มีความจุน้ำที่ระดับกักเก็บ 13,462 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำกักเก็บเฉลี่ย 4,000-5,000 ล้าน ลบ.ม. บางปีมีปริมาณน้ำน้อยมากไม่ถึงร้อยละ 30 ส่งผลต่อปริมาณน้ำใช้การได้ในช่วงฤดูแล้งไม่เพียงพอปีละ 2,000-3,000 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำลุ่มเจ้าพระยาประมาณ 20,415 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี แต่ละปีขาดแคลนอยู่ประมาณ 1,230 ล้าน ลบ.ม. 

ข้อมูล ณ วันที่ 27 ตค.ที่ผ่านมา​ พบว่ามีปริมาณน้ำ 7,831.35 ล้าน ลบ.ม.หรือประมาณ 58.2 % น้ำใช้งานได้ 4,031.35 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็น 41.07 % มีน้ำไหลเข้าอ่างฯ 38.88 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำ 1.0 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรับน้ำเพิ่มอีก 5,640 ล้าน ลบ.ม. หรือ 41.8 %  ซึ่งปีนี้มีปริมาณน้ำมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันปีที่ผ่านมา 2,415.82 ล้าน ลบ.ม.



สำหรับผลดำเนินงานปฎิบัติการทำฝนหลวงของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือมีแผนปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ ประจำปี 2564 ที่ผ่านมานั้น รับผิดชอบดูแลพื้นที่การเกษตร 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง พะเยา และตากและเขื่อนขนาดใหญ่ จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ 1. พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนภูมิพล 2.เขื่อนแม่งัดสมบรูณ์ชล 3.เขื่อนแม่กวงอุดมธารา 4. เขื่อนกิ่วลม 5.เขื่อนกิ่วคอหมาและ6. เขื่อนแม่มอก 



โดยผลปฏิบัติการระหว่างวันที่ 1 ก.พ. – 24 ต.ค. 2564 ที่ผ่านมา(หน่วยงานปฏิบัติการฝนหลวงเชียงใหม่และตาก) หน่วยฯเชียงใหม่ทำการบิน 142 วันส่วนหน่วยฯตากทำการบิน 110 วันรวม 706 เที่ยวบินช่วยเหลือครอบคลุมในพื้นที่เชียงใหม่ ตาก ลำพูน ลำปาง พะเยา เชียงรายและแม่ฮ่องสอน ส่วนผลปฏิบัติการฝนหลวงการช่วยเหลือพื้นที่เกษตรที่ประสบภัยแล้ง พบว่าบริเวณที่มีฝนตก 10 จังหวัด 76 อำเภอ) ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน พะเยา ตาก แม่ฮ่องสอน แพร่ กำแพงเพชร สุโขทัย 

"แม้จะเหลือเวลาอีกไม่กี่วัน แต่กรมฝนหลวงได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ พร้อมติดตามสภาพอากาศและวางแผนปฏิบัติการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ก่อนสิ้นสุดฤดูฝนนี้ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนภูมิภาพและเขื่อนอื่นๆที่ยังมีปริมาณต้นทุนยังไม่ถึงเป้าให้มากที่สุด"



นายสำเริง​ ยังได้กล่าวถึงแผนการปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ ประจำปี 2565 ด้วยว่า แบ่งเป็น 4 ช่วง ช่วงที่1 (ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน) จะเน้นแผนบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า (ลดความหนาแน่นของหมอกควัน และลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กPM2.5 รวมทั้งการเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าไม้) ช่วงที่2 (ระหว่างเดือนมีนา-พค.) 

เน้นแผนการยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บ(บรรเทาและลดความเสียหายจากการเกิดพายุลูกเห็บในพื้นที่การเกษตร) ช่วงที่ 3 (ระหว่างเดือนกพ.-กย.) เน้น แผนการป้องกันและแก้ไขภัยแล้ง (สร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าไม้ และเพิ่มปริมาณน้ำฝนในพื้นที่เกษตรกรรม) และช่วงที่ 4 (ระหว่างเดือนกพ.-ตค.) เน้นแผนการเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ(เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับเขื่อนต่างๆทั่วประเทศ เพื่อสำรองไว้เป็นนำต้นทุนในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง)









ความคิดเห็น