"ชลประทาน"ประเมินฝนไม่ตกเพิ่มเพชรบุรีน้ำลดใน 2 วันนี้

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ตอนบนและตอนกลางของลุ่มน้ำเพชรบุรี ในช่วงวันที่  8 - 9 พ.ย. 64 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ปริมาณน้ำในลุ่มน้ำเพชรบุรีเพิ่มสูงขึ้น มีน้ำล้นตลิ่งที่ลุ่มต่ำ บริเวณสถานี B6A สะพานท่าเกวียน น้ำสูงกว่าตลิ่ง 0.28 เมตร ซึ่งปริมาณน้ำนี้จะไปรวมกับปริมาณน้ำที่สถานี B9  และไหลมายังเหนือเขื่อนเพชรซึ่ง กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเพชร โดยการผันเข้าระบบคลองส่งน้ำทั้ง 4 สายในอัตรา 150 ลบ.ม./วินาที 



ส่วนปริมาณน้ำที่เหลือจะไหลผ่านเขื่อนเพชรลงสู่แม่น้ำเพชรบุรี ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นและเอ่อล้นตลิ่ง ประมาณ 0.20 – 0.6 เมตร ในช่วงวันที่ 10 – 15 พฤศจิกายน 2564 มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ ใน 4 อำเภอ คิออำเภอท่ายาง บริเวณตำบลท่ายาง ตำบลท่าแลง และตำบลยางหย่อง , อำเภอบ้านลาด บริเวณตำบลบ้านลาด ตำบลตำหรุ ตำบลท่าเสน ตำบลถ้ำรงค์ และตำบลพลือ 



อำเภอเมืองเพชรบุรี บริเวณเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี ตำบลท่าราบ ตำบลคลองกระแซง ตำบลต้นมะม่วง ตำบลบ้านหม้อ ตำบลหนองโสน และตำบลบ้านกุ่ม และ อำเภอบ้านแหลม บริเวณตำบลท่าแร้ง ตำบลท่าแร้งออก ตำบลบ้านแหลม ตำบลบางขุนไทร และตำบลบางครก

 โดยสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน มีปริมาณน้ำ 647.95 ล้าน ลบ.ม. ร้อยละ 91 ของความจุ ปัจจุบันได้ปิดการระบายน้ำ ส่วนอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์ มีปริมาณน้ำเต็มความจุเก็บกันอยู่ที่ 45.67 ล้าน ลบ.ม. มีการระบายน้ำ 50 ลบ.ม./วินาที และอ่างเก็บน้ำห้วยผาก มีปริมาณน้ำเต็มอ่างฯเช่นกัน ที่ 27.70 ล้าน ลบ.ม. มีการระบายน้ำ 3 ลบ.ม./วินาที



กรมชลประทาน ได้บูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงาน ประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมแม่น้ำเพชรบุรีให้ทราบสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 27 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 16 เครื่อง กาลักน้ำ 12 ชุด และมีแผนติดตั้งเพิ่มเติม เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มเติม คาดว่าระดับน้ำจะต่ำกว่าตลิ่ง และสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ใน 2 วันนี้ ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำ เมื่อระดับน้ำลดลงต่ำกว่าจะตลิ่งจะใช้เครื่องสูบน้ำสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่โดยเร็วที่สุดต่อไป






ความคิดเห็น