กำหนด Pig Sandbox เขตควบคุมพิเศษ ป้องกัน ASF ระบาด

"เกษตรฯ"ถกป้องกัน-กำจัด ASF หนุนรายย่อยกลับมาเลี้ยงใหม่ วางกรอบ Pig Sandbox เขตควบคุมพิเศษ ให้เลี้ยง เคลื่อนย้าย และจำหน่ายได้เฉพาะในพื้นที่ Sandbox ป้องกันการแพร่ระบาดของโรค

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้ประชุมคณะกรรมการอำนวยการป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรแห่งชาติ (African swine fever : ASF) โดยมีนายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ พร้อมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ด้วย



ทั้งนี้ในที่ประชุมกรมปศุสัตว์รายงานผลการสำรวจข้อมูลการเลี้ยงปัจจุบัน เปรียบเทียบกับจำนวนเกษตรกรและจำนวนสุกร ณ เดือนมกราคม 2565 พบว่า เกษตรกรปี 2565 มี107,157 ราย ลดลงร้อยละ 43.35 มีหมู 10.847 ล้านตัว ลดลงร้อยละ 11.81 หมูแม่พันธุ์ 0.979 ล้านตัว ลดลงร้อยละ 11.16 ส่วนพื้นที่ที่มีการเลี้ยงแม่พันธุ์เพิ่มขึ้นได้แก่ จังหวัดชัยนาท ขอนแก่น  นครสวรรค์ อุทัยธานี กำแพงเพชร และเพชรบูรณ์ ในส่วนของพื้นที่เขตปศุสัตว์ที่เป็นแหล่งผลิตสำคัญมีการเลี้ยงแม่พันธุ์ลดลงได้แก่ เขต 7 แม่พันธุ์ลดลงร้อยละ 30 เขต 2 แม่พันธุ์ลดลงร้อยละ 20 

นอกจากนี้เกษตรกรปรับขนาดการเลี้ยงให้เหมาะสม ลดความหนาแน่นของหมูในฟาร์ม คุ้มค่าการลงทุน ยกระดับการป้องกันโรคในฟาร์มเพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาด้านสุขภาพ โดยกรมปศุสัตว์กำหนดพื้นที่นำร่อง “Pig Sandbox” หรือพื้นที่ควบคุมพิเศษเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงหมูในพื้นที่ดังกล่าว โดยมีมาตรการ 3S คือ 1. Scan ภายใต้มาตรการประเมินความเสี่ยง แล้วให้พื้นที่ Pig Sandbox กลับมาเลี้ยงได้ก่อน 2. Screen ตั้งแต่ผู้เลี้ยง คอก เครื่องมือ อุปกรณ์ที่มีความพร้อมและเหมาะสม 

3. Support สนับสนุน ช่วยเหลือ ด้านการจัดการเลี้ยงดู การตลาด และแหล่งทุน สำหรับ Pig Sandbox จะเป็นเขตควบคุมพิเศษ ให้เลี้ยง เคลื่อนย้าย และจำหน่ายได้เฉพาะในพื้นที่ Sandbox ลักษณะเดียวกับการทำ Sandbox ในโรคโควิด-19 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในวงกว้าง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มสินค้าปศุสัตว์ที่มีคุณภาพและความปลอดภัยให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศ 



นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่ากรมปศุสตัว์ได้ มีมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค อย่างเข้มงวด โดยป้องกันการลักลอบนำสุกรมีชีวิตและผลิตภัณฑ์เข้าประเทศ เฝ้าระวังและค้นหาโรคเชิงรับและเชิงรุก เช่น การเฝ้าระวังทางอาการในฟาร์ม การเฝ้าระวังในโรงฆ่าสัตว์ การเฝ้าระวังในซากและผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในตลาด การประเมินความเสี่ยงระดับอำเภอทั่วประเทศ เพื่อกำหนดมาตรการการควบคุมการเคลื่อนย้าย

โดยทำฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM: Good Farming Management) เพื่อเป็นการลดความเสียหายสามารถป้องกันการเกิดโรคได้และเป็นการเตรียมความพร้อมก่อน เพื่อยกระดับเป็นฟาร์มที่มีการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) และการรายงานผลตรวจโรคหากพบเชื้อ ASF ในสุกร ในใบรายงานผลเพิ่มข้อแนะนำและมาตรการดำเนินการให้เกษตรกรทราบ เพื่อดำเนินการได้ถูกต้องต่อไป



 





ความคิดเห็น