เกษตรฯ โชว์ ปี 64 ไทยส่งออกสินค้าเกษตรทั่วโลก 1.3 ล้านล้านบาท เติบโต 17%

เกษตรฯ โชว์ ปี 64 ไทยส่งออกสินค้าเกษตรทั่วโลก 1.3 ล้านล้านบาท เติบโต 17%  เชื่อมั่น ปี 65 การส่งออกสินค้าเกษตรไทยยังสดใสในตลาดโลก

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาพรวมการค้าสินค้าเกษตรระหว่างประเทศของไทยไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก พบว่า ในปี 2564 (มกราคม - ธันวาคม 2564) ไทยสามารถส่งออกสินค้าเกษตรไปตลาดโลก เป็นมูลค่ามากถึง 1.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับปี 63  ส่งผลให้ไทยได้ดุลการค้าสินค้าเกษตรรวม 813,693 ล้านบาท



หากพิจารณาเฉพาะการค้าสินค้าเกษตรของไทยกับประชาคมอาเซียน 9 ประเทศ (บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงค์โปร์ และเวียดนาม) ภาพรวมการค้ายังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.86 คิดเป็นมูลค่า 422,754 ล้านบาท โดยการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.46 ส่งผลให้ไทยยังคงได้เปรียบดุลการค้า คิดเป็นมูลค่า 171,355 ล้านบาท ทั้งนี้ ไทยส่งออกไปยังมาเลเซียเป็นอันดับหนึ่ง และรองลงมา ได้แก่ เวียดนาม และกัมพูชา ซึ่งสินค้าเกษตรส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องดื่มประเภทนมยูเอชที นมถั่วเหลือง  มูลค่า 46,647 ล้านบาท รองลงมา คือ น้ำตาลและผลิตภัณฑ์จากน้ำตาล มูลค่า 38,075 ล้านบาท ยางพาราธรรมชาติ มูลค่า 29,900 ล้านบาท ของปรุงแต่งเบ็ดเตล็ดที่บริโภคได้ มูลค่า 28,433 ล้านบาท และของปรุงแต่งจากธัญพืช แป้ง และนม มูลค่า 25,099 ล้านบาท



นอกจากนี้ ไทยยังสามารถส่งออกได้ดีกับประเทศที่ไทยทำความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) ซึ่งไม่นับรวมประชาคมอาเซียน โดยไทยสามารถส่งออกในอัตราการขยายตัวเพิ่มสูงถึงร้อยละ 33.06 หรือคิดเป็นมูลค่า  653,663  ล้านบาท ส่งผลให้ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า คิดเป็นมูลค่ากว่า 474,197 ล้านบาท  ตลาดส่งออกที่มีอัตราการขยายตัวมากที่สุด ได้แก่ อินเดีย จีน เกาหลี นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น ตามลำดับ สำหรับสินค้าเกษตรที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ น้ำมันปาล์ม มูลค่า 22,782 ล้านบาท มันสำปะหลัง มูลค่า 41,020 ล้านบาท ยางพาราธรรมชาติ มูลค่า 175,978 ล้านบาท ผลไม้สด มูลค่า 135,991 ล้านบาท และ สตาร์ชและอินูลิน มูลค่า 52,805 ล้านบาท





“การส่งออกสินค้าเกษตรไทยในปีที่ผ่านมา มีทิศทางที่ดีอย่างมาก แม้ต้องเผชิญกับผลกระทบจากโควิด-19 โดยส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการเริ่มมีการปรับตัวตามสภาวการณ์ ทำให้ไทยมีโอกาสและแนวโน้มในการส่งออกเพิ่มขึ้น รวมไปถึงการดำเนินนโยบายและมาตรการเชิงรุกและเชิงรับของภาครัฐ การขยายช่องทางการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ และที่สำคัญ กระทรวงเกษตรฯ ได้ให้ความสำคัญกับมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสินค้าเกษตร ทั้งพืช ประมง และปศุสัตว์ อย่างเข้มงวด และเชื่อมั่นว่า ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย ในปี 2565 สินค้าเกษตรไทยจะยังคงส่งออกได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง” เลขาธิการ สศก. กล่าว 


 



 

ความคิดเห็น