เร่งเครื่องพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองเพิ่มพื้นที่สีเขียว

เร่งเครื่องพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง วางกลไกขับเคลื่อนทั่วไทย ตั้งเป้าพัฒนาเกษตรเมืองเพิ่มพื้นที่สีเขียว ตอบโจทย์เศรษฐกิจชุมชนยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง (Sustainable Urban Agriculture Development Project : SUAD Project) เป็นประธานการประชุมแนวทางการดำเนินงานโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองระดับเขต และระดับจังหวัดทั่วประเทศ ผ่านระบบการประชุมทางไกลออนไลน์ zoom cloud meeting ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาและเห็นชอบแนวทางการดำเนินงานโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง ระดับเขต และระดับจังหวัด



นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน เล็งเห็นความสำคัญการแก้ไขปัญหาภาวะความไม่มั่นคงทางอาหารในเมือง เนื่องจากในปี2562 ประเทศไทยมีประชากรในเมืองมากกว่าในชนบทเป็นครั้งแร กสะท้อนถึงการขยายตัวของเมือง (Urbanization) และชุมชนเมืองมีการผลิตอาหารได้เองไม่ถึง 10% เป็นเหตุผลสำคัญที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในยุคปัจจุบันต้องเร่งขับเคลื่อนพัฒนาการเกษตรในเมือง (Urban Agriculture) โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และยุคต่อไป (Next normal) ที่ต้องให้ความสำคัญระบบนิเวศน์เมืองเรื่องสุขภาพคนและคุณภาพเมือง 

ซึ่งการขับเคลื่อนต้องขับเคลื่อนการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองต้องควบคู่กับเกษตรในชนบท จึงได้มอบนโยบายให้ดำเนินการโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ มีวัตถุประสงค์ 6 ประการ ได้แก่ 1. การพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง 2. การเพิ่มพื้นที่สีเขียว 3. การลด PM 2.5 และลดก๊าซเรือนกระจก (Green House Gas) 4. การเพิ่มคุณภาพอากาศ 5. การอัพเกรดคุณภาพชีวิตของประชาชน 6. การสร้างเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติ ในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ(Climate Change) ของโลก

นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการระดับเขตและจังหวัด ยังรับผิดชอบการขับเคลื่อนโครงการธนาคารสีเขียว (Green Bank) เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวตามแนวทางเกษตรกรรมยั่งยืน โดยการปลูกไม้เศรษฐกิจเป็นทรัพย์สินและหลักทรัพย์ค้ำประกันทั้งยังนำมาคำนวณเป็นคาร์บอนเครดิตเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกควบคู่ไปด้วยตามเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Carbon Zero ของประเทศไทย เพื่อนำมาประยุกต์ใช้เป็นแรงจูงใจในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวอีกทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม การบริหารโครงการเชิงโครงสร้างครอบคลุมทั้งประเทศ นอกจากจะมีกลไกคณะกรรมการระดับพื้นที่แล้ว ยังมีคณะกรรมการระดับคลัสเตอร์ หรือคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในพื้นที่ต่างๆ ได้แก่ 1) คณะทำงานขับเคลื่อนฯ ในพื้นที่ที่วัด (Green Temple) 2) คณะทำงานขับเคลื่อนฯ ในพื้นที่วิทยาลัย (Green College) 3) คณะทำงานขับเคลื่อนฯ ในพื้นที่โรงเรียน (Green School) 4) คณะทำงานขับเคลื่อนฯ ในพื้นที่มหาวิทยาลัย (Green Campus) 

5) คณะทำงานขับเคลื่อนฯ ระดับชุมชนและท้องถิ่น (Green Community) 6) คณะทำงานขับเคลื่อนฯ ในพื้นที่อาคารชุด (Green Condo) 7) คณะทำงานขับเคลื่อนฯ ในพื้นการเคหะแห่งชาติ (Green Housing ) 8) คณะทำงานขับเคลื่อนฯ ในพื้นที่อุตสาหกรรมและนิคมอุตสาหกรรม (Green Industry) 9) คณะทำงานขับเคลื่อนฯ ในพื้นที่โรงแรม (Green Hotel) และ 10) คณะทำงานขับเคลื่อนฯ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (Green Bangkok) สำหรับเกษตรกรรมยั่งยืน มี 5 สาขา ได้แก่ เกษตรอินทรีย์ เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน วนเกษตร และเกษตรธรรมชาติ

“ในเขตเมืองของแต่ละจังหวัดสามารถจัดทำสวนเกษตรในบ้าน ในชุมชน หรือพื้นที่สาธารณะแบบสวนขนาดเล็ก(Pocket Garden) เช่น สวนครัว สวนสมุนไพร สวนผัก หรือในพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ หรือการสร้างสวนป่าขนาดเล็ก (Pocket Forest) แนววนเกษตร เช่น ในกรุงโตเกียว ในมหานครลอนดอน และในสิงคโปร์ ก็ทำสวนป่าสีเขียวในป่าคอนกรีต รวมทั้งต้องมีตลาดเกษตรในเมือง (Farmer Market) เพื่อจำหน่ายผลผลิตเกษตรในชุมชนเมืองด้วย เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจพร้อมกับยกระดับคุณภาพเมืองคุณภาพขีวิตของประชาชน” นายอลงกรณ์ กล่าว


 





ความคิดเห็น