กลไกตลาดเสรี ปล่อยวางราคาสินค้าตามต้นทุน ทางรอดเกษตรกร

สถานการณ์วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน กลายเป็นชนวนที่สร้างความสั่นสะเทือนต่อเศรษฐกิจโล และเป็นที่จับตาอย่างใกล้ชิดของหลายประเทศทั่วโลก  โดยสิ่งที่ได้รับผลกระทบที่เห็นกันชัดๆ อาทิ ตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งลงทันที รวมถึงราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงขึ้นเกิน 100 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล ตลอดจนอุตสาหกรรมอาหาร เนื่องจากทั้งสองประเทศเป็นผู้ปลูกพืชรายใหญ่ของโลก ทั้งข้าวสาลี และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จะเป็นปัจจัยผลักดันให้ราคาอาหารโลกสูงขึ้นด้วย โดยการส่งออกข้าวสาลีของทั้งสองประเทศรวมกันคิดเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีอันดับสามของโลก มีสัดส่วนที่ร้อยละ 29 ของการส่งออกข้าวสาลีทั่วโลก และมีสัดส่วนการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ร้อยละ 19 ของตลาดโลก



ผลของสงครามส่งผลให้ราคาข้าวสาลีในตลาดโลกปรับขึ้นใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี ขณะที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีราคาเพิ่มขึ้นแล้ว 15 %   สำหรับประเทศไทยมีการนำเข้าข้าวสาลีเพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ขณะนี้มีราคาที่กิโลกรัมละ 12 บาท จากเดิมในปี 2564 มีราคากิโลกรัมละ 8-9 บาท  หรือเพิ่มขึ้นกว่า 34 % ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทยราคาปรับขึ้นไปที่กิโลกรัมละ 11.45 บาท  นับเป็นการเพิ่มขึ้นที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์

นั่นหมายความว่าต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการเลี้ยงสัตว์ต่างๆ ทั้งหมู ไก่ ไก่ไข่ ต้องพลอยฟ้าพลอยฝนได้รับผลกระทบจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้นไปด้วย  แล้วผู้เลี้ยงสัตว์จะอยู่กันได้อย่างไร

ถึงเวลาที่กระทรวงพาณิชย์ควรพิจารณานำกลไกตลาดเสรีมาปรับใช้ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเลี้ยงสัตว์  มากกว่าจะปล่อยให้ผู้เลี้ยงสัตว์ต้องแบกรับภาระต้นทุนแทนรัฐบาลเหมือนที่ผ่านมา



ปัจจุบัน กระทรวงพาณิชย์มีมาตรการคุมราคาสินค้าอาหารโดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ทั้งเนื้อหมู ไก่เนื้อ และไก่ไข่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบตรงจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ตุลาคม 2564 แต่ราคาขายปลีกกลับถูกควบคุมไว้ไม่เป็นไปตามกลไกการตลาด ทำให้เกษตรกรแบกภาระขาดทุนสะสม

อย่างไรก็ตาม จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในเชิญสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่มาหารืออีกครั้ง เพื่อหาทางออกร่วมกันให้เกิดผลดีที่สุด ทั้งต่อเกษตรกรและฟาร์ม ผู้รวบรวมไข่ รวมทั้งผู้บริโภค  จะทำอย่างไรให้เกิดความสมดุลที่สุดเท่าที่จะทำได้  หลังจากมีการพูดคุยกันมาตลอด  และขณะนี้ราคาไข่ไก่ก็ไม่จัดว่าสูงเกินสมควร เพราะราคากำกับที่ฟองละ 3.50 บาท มีราคาเฉลี่ยที่ฟองละ 3.29 บาท



ล่าสุด พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย บอกว่า วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน เป็นตัวเร่งที่ทำให้วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่แพงอยู่ขณะนี้แพงขึ้นไปอีก  การสั่งนำเข้าข้าวสาลีล่วงหน้าที่จะส่งมอบในเดือนเมษายน-พฤษภาคมนั้น ปัจจุบันได้รับแจ้งว่า อาจส่งมอบไม่ได้ เนื่องจากแนวโน้มสงครามที่คาดว่าจะรุนแรงมากขึ้น อาจกระทบด้านการขนส่งสินค้าด้วย หากว่า วัตถุดิบอาหารสัตว์ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้  จำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องลดการผลิต  หรือหาแหล่งนำเข้าสำรองจากประเทศอื่น เช่น อินเดีย  และยอมนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีราคาแพง พร้อมปรับราคาเนื้อสัตว์ให้สูงขึ้นในระดับที่สอดคล้องกับต้นทุน เพื่อให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด

ทางฟากผู้เลี้ยงสัตว์บอกกล่าวกันมาตลอดตั้งแต่ยังไม่มีวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนถึงปัญหาต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ในประเทศที่มีราคาสูง ทำให้มีต้นทุนการเลี้ยงสูงแต่ก็ยังไม่ได้รับการเหลียวแลใดๆ

จากนี้จึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะต้องเร่งหาแนวทางเพื่อช่วยผ่อนคลายภาระต้นทุนของผู้เลี้ยงสัตว์  จากมาตรการดูแลพืชอาหารสัตว์ในประเทศ ด้วยการยกเลิกมาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลีที่มีอัตรา 3:1  รวมทั้งเปิดให้มีการนำเข้าข้าวโพดภายใต้กรอบ WTO และ AFTA โดยยกเลิกโควต้า ภาษีและค่าธรรมเนียมในปริมาณขาดแคลน ในปี 2565 และยกเลิก  ภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2 %  

หากภาครัฐจะยังเมินเฉยกับการดำเนินมาตรการที่เสนอมานี้  อาจกลายเป็นระเบิดเวลาสำหรับเกษตรกรที่จะตายผ่อนส่ง









ความคิดเห็น