"กรมประมง"ยันประมงนอกน่านน้ำไทยไม่กระทบ“หญ้าทะเล” ในเขต SIOFA

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมงได้รับร่างรายงานผลกระทบ Impact Assessments of Bottom Trawl Fisheries on VME Indicator Species จากภาคีสมาชิกองค์การบริหารจัดการประมงในมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ (Southern Indian Ocean Fisheries Agreement, SIOFA) ที่ประเมินความเสี่ยงของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศที่เปราะบาง (VME) 14 ชนิดในพื้นที่ทำประมงอวนลากบริเวณ Saya de Malha Bank พบว่า มีความเสี่ยงในระดับต่ำ 3 ชนิด และมีความเสี่ยงในระดับปานกลาง 11 ชนิด ทั้งนี้ในรายงานระบุชัดเจนว่า การทำประมงอวนลากไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่หญ้าทะเล



โดยก่อนหน้านี้ในการประชุมสามัญประจำปีของ SIOFA ครั้งที่ 8 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมประชุมในฐานะรัฐภาคี มีองค์กร The Deep Sea Conservation Coalition, DSCC ซึ่งเป็นองค์การนอกภาครัฐ (NGO) เข้าร่วมประชุมในสถานะผู้สังเกตการณ์การประชุมได้นำเสนอเอกสารที่มีสถานะเป็น information paper ต่อที่ประชุม เรื่อง ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับ ความหลากหลายทางระบบนิเวศจากการทำประมงอวนลากในพื้นที่ Saya de Malha Bank โดยเรียกร้องให้ประเทศไทยหยุดทำการประมงในบริเวณพื้นที่ Saya de Malha Bank จนกว่าจะมีการประเมินสภาวะทรัพยากรและพัฒนามาตรการที่ปกป้อง ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตและชนิดสัตว์น้ำ ตลอดจนหญ้าทะเลในบริเวณดังกล่าว ทั้งนี้ภาคีสมาชิก SIOFA พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นข้อเสนอที่มิได้มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือรองรับจึงไม่ได้รับมติเห็นชอบจากภาคีสมาชิก SIOFA 



ทั้งนี้ต่อมา SIOFA เห็นว่า การศึกษาผลกระทบการประมงต่อพื้นท้องทะเลเป็นเรื่องสำคัญและต้องใช้อ้างอิงในการบริหารจัดการประมงเชิงพื้นที่ จึงมีมติให้คณะกรรมการวิทยาศาสตร์ (SIOFA Scientific Committee, SC) ศึกษาระบบนิเวศและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำประมงอวนลากในพื้นที่ Saya de Malha Bank ตามแผนงานที่วางไว้ โดยให้ใช้ระยะเวลาการศึกษา 2 ปี และให้นำมาพิจารณาในการประชุมประจำปี SC ในเดือนมีนาคม 2565 โดย SC ประสานงานกับกรมประมงมาเป็นระยะเพื่อขอรับข้อมูลการทำประมงของกองเรือประมงไทย ใช้ประกอบการศึกษาวิเคราะห์ นอกจากนี้กรมประมงยังได้ประสานแจ้งและร่วมดำเนินการกับผู้ประกอบการประมงนอกน่านน้ำไทยและสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทยมาโดยตลอด 

อย่างไรก็ตามแม้ร่างรายงานผลกระทบที่ออกมาชี้ชัดว่า การทำประมงอวนลากไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่หญ้าทะเล แต่ประเทศไทยจะยังคงให้ความร่วมมือกับ SC เพื่อศึกษาผลกระทบตามแผนงานที่วางไว้ต่อไปเพื่อให้เกิดความชัดเจนของข้อมูลและเป็นการแสดงให้ภาคีสมาชิก SIOFA เห็นถึงความมุ่งมั่นและจุดยืนของประเทศไทยในการบริหารจัดการประมงนอกน่านน้ำไทยอย่างยั่งยืนและปราศจากการทำประมงผิดกฎหมาย







ความคิดเห็น