"วิบากกรรมหมูไทย"จาก ASF สู่สงครามรัสเซีย-ยูเครน วิกฤตซ้อนวิกฤต

เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 กรมปศุสัตว์ ประกาศ “โรค ASF ในหมู” เป็นโรคอุบัติใหม่ในไทยและได้รายงานไปที่ OIE นี่คือเหตุผลที่ทำให้ผลผลิตหมูในประเทศลดลงมากกว่า 50% จากที่มีผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 20 ล้านตัวต่อปี เป็นที่มาของหมูขาด-หมูแพง ตั้งแต่ต้นปี 2565 ส่งผลให้หมูมีชีวิตหน้าฟาร์มปรับราคาขึ้นเกิน 100 บาท/กก. เป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี ทำให้ราคาขายปลีกหมูเนื้อแดงทะลุ 200 บาท/กก. ทั้งที่ผู้เลี้ยงยังต้องเผชิญกับต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ยังคงปรับราคาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 และยังสมทบด้วยการปรับราคาน้ำมันดีเซลแบบขั้นบันไดเบื้องต้นที่ 2 บาท/ลิตร ทำให้ราคาไปอยู่ที่ 32 บาท/ลิตร และสามารถปรับขึ้นไปชนเพดานที่ 35 บาท/ลิตร ในอนาคต



กรมปศุสัตว์ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศ บริษัทแปรรูปอาหาร ได้ร่วมมือกันแบบบูรณาการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้บริโภค มีเป้าหมายจะกอบกู้การเลี้ยงหมูและเพิ่มผลผลิตให้กลับสู่ภาวะปกติภายในสิ้นปี 2565 อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้หมูออกสู่ตลาดน้อยเพราะเพิ่งเริ่มเข้าเลี้ยงหมูรอบใหม่ ราคาจึงเป็นไปตามกลไกตลาด 


แต่แล้ว ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 เมื่อสงครามรัสเซีย-ยูเครน ปะทุขึ้น และยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมไปทั่วโลก โดยเฉพาะผลที่ก่อให้เกิด “ข้าวยาก หมากแพง” เนื่องจากทั้งสองประเทศเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) รายใหญ่ที่มีนัยสำคัญต่ออุปทาน (Supply) ของโลก อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี เรพซีดออยล์ ปุ๋ยและน้ำมันเชื้อเพลิง การที่ทั้งสองประเทศประกาศห้ามส่งออกสินค้าดังกล่าวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารระหว่างสงคราม เป็นตัวเร่งราคาวัตถุดิบและปัจจัยการผลิตสำคัญในห่วงโซ่การผลิตอาหารให้ปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว  แม้มาตรการผ่อนปรนการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ของภาครัฐที่เพิ่งคลอดออกมาจะล่าช้าและจำกัดเวลาในระยะกระชั้นชิดมาก ก็ต้องมาติดตามกันว่าจะช่วยลดต้นทุนการผลิตที่วิ่งแซงหน้าไปแล้วได้หรือไม่


ผลที่ตามมา คือ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ดังกล่าวปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และข้าวสาลีปรับราคาแล้วประมาณ 25-30% และขาดแคลน ส่วนน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นจาก 80 ดอลล่าร์ต่อบาเรล พุ่งขึ้นไปยืนเหนือ 100 ดอลล่าร์ต่อบาเรล โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปรับราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 13.50 บาท/กก. จากราคาเฉลี่ยไม่เกิน 10 บาท/กก. ขณะที่ข้าวสาลีซึ่งเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ทางเลือกของผู้เลี้ยงสัตว์ไทยสำหรับทดแทนข้าวโพด ก็ขยับราคามาเท่ากับข้าวโพดแล้ว ทำให้เกษตรกรต้องรับภาระต้นสูงรอบด้าน ต้นทุนราคาเนื้อหมูหน้าฟาร์มที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ประมาณการณ์ไว้อยู่ที่ 98.81 บาท/กก. ขณะที่ราคาขายหน้าฟาร์มอยู่ที่ 98-100 บาท/กก. ซึ่งผู้เลี้ยงยืนยันว่าจะรักษาระดับราคาหน้าฟาร์มไว้ ตามกลไกตลาดที่แท้จริง เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของคนไทย


อย่างไรก็ตาม ผู้เลี้ยงหมูยังต้องเจอวิบากกรรมล่าสุด จากความพยายามของ “ขบวนการลักลอบ” นำเข้าหมูจากต่างประเทศ เพื่อฉวยโอกาสในช่วงที่ราคาหมูในประเทศสูงขึ้น เห็นได้จากการที่กรมปศุสัตว์และหน่วยงานภาครัฐเดินแถวตรวจสต๊อกห้องเย็นทั่วประเทศตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 จับกุมห้องเย็นพื้นที่นครปฐม พบหมูนำเข้ามาสวมสิทธิ์สำแดงเท็จเป็นอาหารทะเลเกือบ 1 ล้านกิโลกรัม และอยู่ระหว่างจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี ขณะนี้กลุ่มธุรกิจในเขตพื้นที่เดิมมีความพยายาม ที่จะเสนอให้รัฐบาลพิจารณานำเข้าหมูเป็นการชั่วคราว อ้างเพื่อแก้ปัญหาราคาสูงและขาดแคลน ฤาจะเป็นการเล่นแร่แปรธาตุให้ “หมูผิดกฎหมาย” เป็น “หมูถูกกฎหมาย” ดังนั้นขอภาครัฐอย่าเพิกเฉยสืบสวนและกวาดล้างขบวนการบ่อนทำลายเกษตรกรและระบบอาหารมั่นคงของชาติให้สิ้นซาก 



สำหรับหมูนำเข้าจากสหรัฐ เยอรมัน หรือประเทศทางตะวันตก ยังอนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดงที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค แต่เป็นสารผิดที่กฎหมายไทยห้ามใช้โดยเด็ดขาด ซ้ำคนไทยต้องบริโภคหมูส่วนเกินและอันตรายจากประเทศต้นทางที่มีราคาต่ำกว่าในไทยแม้จะไม่มาก แต่ก็มีผลทำให้ผู้บริโภคหันไปซื้อหาของถูกมารับประทานกัน โดยหมูลักลอบนำเข้าจะนำไปขายปนกับหมูตามเขียงในตลาดสดจนแยกไม่ออกในราคาถูกล่อใจผู้บริโภค การกระทำดังกล่าวเป็นการตัดโอกาสผู้เลี้ยงหมูไทยในการขายผลผลิตของตัวเองที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดในอีก 4-6 เดือนข้างหน้า ซึ่งเป็นเนื้อหมูที่คนไทยบริโภคได้อย่างมั่นใจทั้งคุณภาพและในราคาที่เข้าถึงได้


ทั้งหมดนี้ คือ “วิบากกรรมหมูไทย” ที่ต้องเผชิญในยามที่โลกหมุนไม่ปกติ ทั้งโรคระบาดคน โรคระบาดสัตว์ และสงคราม ยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง หวังเพียงภาครัฐสอดส่องดูแลอย่างเข้มงวดและทั่วถึง ส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยและรายเล็ก กลับเข้าเลี้ยงหมูได้ตามเวลา พร้อมสนับสนุนปัจจัยการผลิตที่จำเป็น อาทิ วัคซีนป้องกันโรค ลูกหมูคุณภาพดี สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อขับเคลื่อนห่วงโซ่การเลี้ยงหมูให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ขณะเดียวกันจำเป็นต้องกำจัดพวกฉวยโอกาสในภาวะที่ประชาชนเดือนร้อนให้หมดไป ที่สำคัญรัฐต้องกล้านำ “กลไกตลาด” มาสร้างสมดุลราคาเนื้อหมูและสินค้าอื่นๆ เพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้เลี้ยงและผู้ประกอบการได้เห็นอนาคตของตัวเองชัดเจน 


อัปสร พรสวรรค์






ความคิดเห็น