"นายกฯ"ห่วงชาวนาพิมายหลังเพาะปลูกรอบใหม่สั่งเข้มเดินหน้าตาม 13 มาตรการฤดูฝน

ดร.สุรสีห์  กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยถึงข้อห่วงใยของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กรณีเกษตรกรในพื้นที่ตำบลสัมฤทธิ์ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ขอให้หน่วยงานภาครัฐบริหารจัดการน้ำไม่ให้กระทบต่อการเพาะปลูกข้าวซ้ำซาก ภายหลังระดับน้ำที่หลากเข้าท่วมพื้นที่ทางการเกษตรกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ว่า กอนช. ตรวจสอบพบว่าช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พื้นที่การเกษตรในตำบลสัมฤทธิ์ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ประสบปัญหาน้ำหลากเข้าท่วม 



มีสาเหตุจากปริมาณฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ โดยกรมชลประทานได้ใช้เขื่อนลำเชียงไกรเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำและชะลอน้ำหลาก แต่ด้วยลักษณะของพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำนอกเขตชลประทาน อยู่นอกคันกันน้ำและติดแม่น้ำมูล จึงมีความเสี่ยงน้ำท่วมพื้นที่จากฝนตกหนักและน้ำล้นจากแม่น้ำ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ระบายน้ำเพื่อลดผลกระทบอย่างเร่งด่วน โดยปัจจุบันระดับน้ำได้ลดต่ำลงจนกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว


เนื่องจากปัจจุบัน สถานการณ์น้ำในพื้นที่บริเวณอำเภอพิมาย ได้กลับคืนสู่ภาวะปกติแล้ว จึงมีเกษตรกรบางส่วนที่เริ่มลงมือเพาะปลูกในรอบใหม่ ซึ่ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีความห่วงใยต่อความเดือดร้อนของเกษตรกร จึงได้สั่งการให้ กอนช. ติดตามคาดการณ์สภาพอากาศและประเมินสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง พร้อมกำชับให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้บริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และดำเนินการตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 อย่างเคร่งครัด 



โดยเน้นย้ำในเรื่องการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเปิดทางให้สามารถระบายน้ำหลากได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่ผลผลิตทางการเกษตร โดย กอนช. จะประสานกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาตามข้อสั่งการทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อไป


ดร.สุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้มอบหมายให้ สทนช. ใช้กลไกที่มีอยู่ในการบริหารจัดการน้ำระยะยาว ให้สามารถแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมได้อย่างยั่งยืน โดยปัจจุบัน สทนช. อยู่ในระหว่างการเสนอผังน้ำลุ่มน้ำมูลเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการลุ่มน้ำ โดยผังน้ำถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้สามารถจัดทำแนวทางการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำมูล ทั้งฤดูน้ำหลากและฤดูแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต






ความคิดเห็น